Broker — ครอบครัวที่เราเลือกเอง

 BROKER — จัดหารัก

129 MIN. — 2022

Hirokazu Kore-eda — ฮิโรคาสุ โคเรเอดะ

 

 

ผู้กำกับชาวญี่ปุ่น ฮิโรคาสุ โคเรเอดะ ยังคงไม่ทอดทิ้งแนวทางการทำหนังที่เกี่ยวกับประเด็นของครอบครัว นับตั้งแต่ Still Walking (2008), Like Father, Like Son (2013), Our Little Sister (2015), Shoplifters (2018), The Truth (2019) และกับผลงานที่เข้าฉายไปในปีก่อนอย่าง Broker หรือชื่อไทยในชื่อว่า จัดหารัก ที่ชนะรางวัลปาล์มทองคำในงานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ในปีนั้นด้วย

โดยหนึ่งในสิ่งที่เรียกเสียงฮือฮาจากภาพยนตร์เรื่องนี้ได้มากที่สุด คือ การที่ได้ตัว อีจีอึน หรือ ไอยู นักร้องสาวขวัญใจชาวเกาหลี มาร่วมแสดงในบทนำ ซึ่งถือว่าเป็นการแสดงภาพยนตร์ในระดับนานาชาติเรื่องแรกของเธออีกด้วย หลังจากที่ก่อนหน้านี้เธอเคยแสดงในภาพยนตร์สัญชาติเกาหลี Shades of the Heart (2019) เพียงเรื่องเดียว อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเธอจะเคยแสดงในภาพยนตร์เพียงเรื่องเดียว ประสบการณ์ในวงการการแสดงของเธอถือว่าไม่น้อย เนื่องจากเธอรับบทในซีรีส์เกาหลีชื่อดังมากมาย ทั้ง Dream High (2011-2012), Moon Lovers: Scarlet Heart Ryeo (2016) และ Hotel Del Luna (2019)

ส่วนทีมนักแสดงคนอื่น ๆ ก็ไม่ได้ไปด้อยกว่ากันเลย ทั้ง ซงคงโฮ นักแสดงสัญชาติเกาหลีที่มีผลงานการแสดงทั้งในประเทศบ้านเกิด อย่าง Memories of Murder (2003) และ Parasite (2019) สองผลงานที่เป็นการร่วมงานกับผู้กำกับ บงจุนโฮ โดยเรื่องหลังนี้ ไปไกลถึงชนะรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม และรางวัลชนะเลิศอีก 2 รางวัล ในงานประกาศรางวัลออสการ์ประจำปี ตลอดจนผลงานในฮอลลีวูดอย่าง Snowpiercer (2013) ฝีมือผู้กำกับคนเดียวกันนี้ ที่เขาต้องประชันฝีมือการแสดงกับ คริส อีแวนส์ และ ทิลด้า สวินตัน ส่วนนักแสดงอื่น ๆ ที่น่าสนใจก็ยกตัวอย่างเช่น แบดูนา, คังดงวอน และ อีจูยอง

โดยเนื้อหาของภาพยนตร์เรื่องนี้จะเกี่ยวกับครอบครัวของ ซังฮยอน (ซงคงโฮ) และ ดงซู (คังดงวอน) ที่คอยจะแอบขโมยเด็กที่ถูกทิ้งไว้ที่กล่องรับเลี้ยงหน้าโบสถ์แห่งหนึ่ง เพื่อนำไปหาครอบครัวใหม่ที่เหมาะสมกับพวกเขาและเธอเหล่านั้นเธอ แลกกับค่าตอบแทนก้อนใหญ่จากผู้ซื้อ หรือว่าถ้าให้พูดอย่างตรงไปตรงมาก็คือ การซื้อขายทารก ดี ๆ นี่เอง จนเมื่อ โซยอง (อีจีอึน) นำลูกชายของเธอมาทิ้งไว้ที่โบสถ์แห่งนี้ ก่อนที่เธอจะเปลี่ยนใจกลับมารับตัวลูกของเธอไป แต่เหตุการณ์ก็เริ่มบานปลาย เมื่อลูกชายของเธอถูกครอบครัวนักจัดหารักเอาตัวไปแล้ว เธอจึงต้องออกตามหาลูกของเธอ พร้อมกับการคู่หูตำรวจ ซูจิน (แบดูนา ) และ นักสืบลี (อีจูยอง) ที่เข้ามาพัวพันด้วย

สำหรับใครที่คาดหวังดราม่าครอบครัวในแบบเข้มข้นตามสไตล์ของ โคเรเอดะ ในแบบ Shoplifters อาจจะไม่ถูกใจภาพยนตร์เรื่องนี้นัก เนื่องจากอารมณ์ของภาพยนตรเรื่องนี้ค่อนข้างผ่อนคลายกว่าเรื่องอื่น ๆ ของเขา โดยมีการสอดแทรกมุกตลกเข้ามาในหลายจังหวะของภาพยนตร์ ซึ่งจะมีความคล้ายกับภาพยนตร์ที่เขาทำงานกับนักแสดงจากทางฝั่งตะวันตกอย่าง The Truth มากกว่า และภาพยนตร์ยังมีอีกประเด็นที่ให้ความสำคัญพอ ๆ กับประเด็นในเรื่องของครอบครัว คือ ประเด็นความสัมพันธ์ในเชิงความรักแมนติกระหว่าง ดงซู และ โซยอง ที่ทำให้ประเด็นในเรื่องของครอบครัวอ่อนลงไปพอสมควร แต่ในทางกลับกันเรื่องราวของความสัมพันธ์ของทั้งสองก็ทำออกมาได้ดีเลยทีเดียว ซึ่งคงจะถูกใจแฟน ๆ ของนักร้องสาวอยู่ไม่น้อย ที่เธอได้ออกมาแสดงฝีมือเยอะมากทีเดียวจากประเด็นนี้ และถึงแม่ดูจากภายนอก เธออาจจะดูไม่เหมือนผู้หญิงที่เป็นแม่คน แต่ว่าการแสดงสัญชาติญาณความเป็นแม่ในหลาย ๆ ฉาก กดชดเชยข้อบกพร่องนี้ไปได้อย่างดีเลยทีเดียว

ข้อดีอย่างหนึ่งที่น่าชื่นชมของตัวภาพยนตร์ คือ การที่พาเราไปสำรวจประเด็นทางศีลธรรมที่ซับซ้อนด้วยวิธีทางที่เข้าใจได้ง่าย ทั้งในประเด็นของ การมีลูกตั้งแต่ในอายุยังน้อย, การทำแท้ง, การทอดทิ้งลูก, การรับเลี้ยงเด็กในสถานกำพร้า และการซื้อขายทารก รวมไปถึงประเด็นของภาวะชายเป็นใหญ่ที่ครอบงำสังคมเกาหลีอยู่ แต่ด้วยท่าทางที่ง่ายดายเช่นนี้ ทำให้การขับเน้นอารมณ์ในประเด็นเหล่าทำออกมาได้ไม่ดีเท่าที่ควร แม้กระทั่งฉากไคลแมกซ์บนดาดฟ้าขององค์ที่สามก็ถือว่ายังน่าผิดหวัง

อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้สุดท้ายภาพยนตร์ที่จะมีข้อบกพร่องหลายประการนี้ออกมาเพลินเพลิน ก็คงเป็นเพราะเคมีของนักแสดงที่ยอดเยี่ยมทำให้ความสัมพันธ์ของหลากหลายคู่ตัวละครออกมาดี ทั้งระหว่าง ซังฮยอน และ ดงซู ในฐานะคนในครอบครัวเดียวกัน ความสัมพันธ์ระหว่าง ดงซู และ โซยอง ในฐานะเพื่อนที่กำลังพัฒนาความสัมพันธ์ ความสัมพันธ์ระหว่างคู่หูตำรวจนักสืบ และเสริมด้วยความป่วนของตัวละครวัยเยาว์อย่าง แฮจิน ก็เติมความสนุกสนานให้กับเรื่องราวโดยรวมได้อย่างเหมาะเจาะ

และตอนนี้ที่กำลังเขียนบทความนี้อยู่ ก็นึกย้อนกลับไปถึงฉากที่ทำให้เสียนํ้าตาไปกับมันในภาพยนตร์เรื่องนี้ อย่างเช่นฉากในห้องนอนของโรงแรม หรือฉากบนชิงช้าสวรรค์ ก็ทำให้นึกขึ้นได้ว่า ภาพยนตร์ที่ทำให้เราเสียนํ้าตาได้คงไม่ได้เป็นภาพยนตร์ที่แย่แต่อย่างใด

Comments

comments