Babylon — ภาพยนตร์คือความวินาศที่เราตกหลุมรัก

BABYLON — บาบิลอน

189 MIN. — 2022

Damien Chazelle — เดเมียน ชาเซลล์

 

***** มีการเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์เรื่อง บาบิลอน *****

เดเมียน ชาเซลล์ ผู้กำกับผู้ซึ่งผลงานในอดีตเป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดีว่าเขารักในภาพยนตร์และเสียงดนตรีมากเพียงใด หลังจากที่เขาหันไปทำภาพยนตร์ดราม่า-ชีวประวัติของมนุษย์คนแรกที่ไปเหยียบดวงจันทร์ นีล อาร์มสตรอง ในเรื่อง First Man (2018) คราวนี้เขากลับมาอีกครั้งในแนวทางเดิมกับผลงานภาพยนตร์ขนาดยาวลำดับที่ห้าของเขา บาบิลอน

โดยแนวทางเดิมของผู้กำกับสัญชาติอเมริกันที่กล่าวถึงคือ การสร้างภาพยนตร์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังของเสียงดนตรีแจ๊ส นับตั้งแต่ Whiplash (2014) ที่เป็นเรื่องราวของมือกลองในวงดนตรีแจ๊สที่ต้องเจอกับวาทยากรสุดโหดหินที่จะผลักดันความสามารถของเขาจนถึงขีดสุด ภาพยนตร์ที่มีฉากจบสุดตราตรึงใจเรื่องนี้กวาดรางวัลออสการ์ไปถึงสามสาขา ซึ่งรวมไปถึงรางวัลนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมของ เจ. เค. ซิมมอนส์

ผลงานเรื่องต่อมาที่ยังคงอยู่ในแนวทางเดิมของเขาอย่าง La La Land (2016) ก็ได้ส่งเขาขึ้นไปให้กลายเป็นหนึ่งในผู้กำกับที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งในฮอลลีวูดยุคปัจจุบัน ด้วยการได้รับการเสนอชื่อให้เข้าชิงรางวัลออสการ์ถึง 14 สาขา และชนะไปถึง 6 สาขา ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้เมืองแห่งดวงดาวอย่าง ลอส แองเจลิส ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ด้วยผสมผสานความความดราม่าเข้ากับความเป็นภาพยนตร์ดนตรีได้อย่างลงตัว ซึ่งส่วนหนึ่งของความสำเร็จนี้ก็เกิดขึ้นมาจาก จัสติน เฮอร์วิตซ์ นักประพันธ์คู่ใจที่เป็นผู้ทำดนตรประกอบให้กับภาพยนตร์ทุกเรื่องของเขา

และในผลงานล่าสุดของเขาอย่าง บาบิลอน ที่เหมือนกับจะเป็นเวอร์ชั่นใหม่ของนครดาราที่เสริมพลังด้วยฤทธิ์ของโคเคนกองใหญ่ ก่อให้เกิดเป็นความวินาศสันตะโรและบ้าคลั่ง ที่ในอีกด้านหนึ่ง อาจจะเป็นจดหมายรักฉบับหนึ่งถึงวงการภาพยนตร์ เช่นเดียวกันกับ Once Upon a Time in Hollywood (2019) ที่อาจจะมีสำนวนภาษาแตกต่างออกไปจากภาพยนตร์ของ เควนติน ทารันติโน อยู่พอสมควร

ภาพยนตร์เรื่องนี้เปิดเรื่องขึ้นมาด้วยฉากของงานปาร์ตี้สุดบ้าคลั่งของฮอลลีวูดในยุค ’20s ที่เต็มไปด้วยโคเคน, ปทุมถัน, เซ็กส์ และเสียงจากทรัมเป็ต ในแง่หนึ่งก็แสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองของอุตสาหกรรมภาพยนตร์อเมริกัน ที่มีเงินสะพัดมากมายเสียจนเอามาทิ้งขว้างกับการนำเอาช้างจริง ๆ มาอยู่ในงานปาร์ตี้ได้ แต่ในขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นถึงความสกปรกโสโครก และไร้ศีลธรรมในอุตสาหกรรมนี้ ทั้งการที่มันไม่ได้เห็นค่าของนักแสดงในฐานะมนุษย์คนหนึ่งเลย เห็นได้จากการที่นักแสดงสาวคนหนึ่งที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ เสพโคเคนเกิดขนาดจนเกิดอาการช็อคและไม่สามารถไปยังกองถ่ายในวันถัดไปได้ ทางทีมงานภาพยนตร์ก็ไม่ได้สนใจว่าเธอจะเป็นตายร้ายดียังไง ด้วยการเลือกสาวสวยสักคนหนึ่งในงานปาร์ตี้ไปแสดงแทนเธอ ซึ่งหญิงสาวคนดังกล่าวก็คือ เนลลี่ ลารอย ที่รับบทโดย มาร์โก้ ร็อบบี้

โดยเรื่องราวของ เนลลี่ ลารอย จะดำเนินไปพร้อมกับเรื่องราวของ แมนนี่ ทอร์เรส หนุ่มแรงงานที่รับบทโดย ดิโอโก คาลวา ผู้ซึ่งอยากที่จะทำงานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ และ แจ็ค คอนราด ที่รับบทโดย แบรด พิตต์ ผู้ซึ่งเป็นหนึ่งในดาราดังที่สุดในยุคสมัยของภาพยนตร์เงียบ ซึ่งเรื่องราวของทั้งสามก็จะเป็นส่วนหนึ่งของเส้นเรื่องใหญ่ของตัวภาพยนตร์เอง ที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ของฮอลลีวูด แต่ตั้งยังอยู่ในยุคของภาพยนตร์เงียบ ก่อนที่จะเปลี่ยนผ่านไปยังยุคของภาพยนตร์เสียง, ภาพยนตร์พูด และสุดท้ายกับยุคสมัยของภาพยนตร์สี ในช่วงต้นของยุค ’50s

ผู้ชมจะได้เห็นความเป็นไปของวงการภาพยนตร์ที่เกิดขึ้นอย่างซํ้าไปซำ้มา อย่างเช่น แจ็ค คอนราด ซึ่งดาราที่โด่งดังอย่างสุดขีดในยุคสมัยหนึ่ง แต่เมื่อเปลี่ยนยุคสมัยเปลี่ยนไป เขาก็ถูกมองว่าเป็นตัวตลกอย่างไม่มีเหตุผล ทั้งที่เขาก็ทำการแสดงในแบบเดิมที่เขาเคยทำ หรือ เนลลี่ ลารอย ที่เป็นตัวแทนของสาวน้อยผู้หวังจะเป็นดวงดาวในฮอลลีวูด แต่เมื่อเธอได้กลายมาเป็นดวงดาวแล้ว กลับต้องมาเสียคนให้กับความสกปรกโสมมของอุตสาหกรรมนี้ จนทำให้เธอต้องจากโลกใบนี้ไปก่อนวัยอันควร และ แมนนี่ ทอร์เรส ในฐานะผู้อยู่เบื้องหลังการสร้างภาพยนตร์ ที่ต้องเอาใจคนมากมายเพื่อที่จะให้อาชีพของตนเองเดินต่อไปได้

และยังแฝงไปด้วยประเด็นทางสังคมอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์อีกด้วย อย่างเช่น ประเด็นของคุณค่าในเชิงศิลปะของภาพยนตร์เมื่อเปรียบเทียบกับละครเวที, ประเด็นของการเหยียดสีผิว, การเหยียดเพศ และการกดขี่แรงงานในกองถ่าย

ด้วยเส้นเรื่องและประเด็นที่มากมายแบบนี้ ทำให้ตัวของภาพยนตร์มีความวุ่นวายอยู่อย่างเห็นได้ชัด แม้ว่าจะมีความยาวทั้งเรื่องกว่าสามชั่วโมงแล้วก็ตาม จะเห็นได้ว่าบางประเด็นก็เหมือนถูกใส่เข้ามาเพราะว่าเพียงแค่อยากบอกเล่าประวัติศาสตร์ของภาพยนตร์ บางประเด็นสำคัญไม่ได้ถูกนำเสนออย่างเต็มที่ แม้กระทั่งความสัมพันธ์ระหว่าง แจ็ค กับเพื่อนรักที่เป็นผู้จัดการของเขาก็ดูไม่หนักแน่น เช่นเดียวกันกับความสัมพันธ์ระหว่าง เนลลี่ และพ่อของเธอที่เป็นผู้จัดการส่วนตัว แม้กระทั่งความสัมพันธ์เชิงโรแมนติกของ เนลลี่ และ แมนนี่ ก็ไม่ได้ชวนให้รู้สึกคล้อยตามไปด้วยเลย แม้ว่าทั้งสองคนจะสวมบทบาทของตัวเองได้อย่างยอดเยี่ยมแล้วก็ตาม

แต่สิ่งที่มาช่วยปกปิดความมากประเด็นจนกลายเป็นความวุ่นวายของภาพยนตร์เรื่องนี้ คือ พลังของดนตรีแจ๊สจาก จัสติน เฮอร์วิตซ์ ประกอบกับสไตล์การตัดต่อที่เร่งจังหวะของภาพยนตร์ให้ฉับไวเข้ากับจังหวะดนตรี ของ ทอม ครอส ทำให้ในหลาย ๆ ฉากที่มีองค์ประกอบทั้งสองอย่างนี้ออกมาเป็นความวุ่นวายที่ผู้กำกับตั้งใจให้มันเกิดขึ้น อีกทั้งยังเรียกได้ว่าทรงพลังจนแทบจะไร้ที่ติ ลักษณะการนำเสนอแบบนี้ก็เหมือนจะเป็นสัญญะที่ให้คิดว่า ความวุ่นวายนี้มันก็เหมือนกันกับโลกของภาพยนตร์ ทั้งที่มันเป็นธุรกิจที่สกปรก ทั้งขูดรีด หรือแม้กระทั่งมันพรากชีวิตของคนจำนวนมากไปอย่างไม่เหลียวแล แต่มันก็ยิ่งใหญ่กว่าทุกคนที่อยู่ในวงการนี้ มันคือความสายงามอย่างหนึ่งที่ทำให้มนุษย์ธรรมดาทั่วไปหลุดพ้นจากความเหงา เมื่อพวกเขาเดินเข้าไปในโรงภาพยนตร์

Comments

comments