Spider-Man: Across the Spider-Verse — แอนิเมชั่นเพื่อการปลดปล่อยพลังแห่งศิลปะ

Spider-Man: Across the Spider-Verse — สไปเดอร์-แมน: ผงาดข้ามจักรวาลแมงมุม

140 MIN. — 2023

Joaquim Dos Santos — วาคิม ดอส ซานโตส

Kemp Powers — เคมป์ พาวเวอร์ส

Justin K. Thompson — จัสติน ทอมป์สัน

 

 

กระแสความถดถอยของภาพยนตร์แนวซูเปอร์ฮีโร่ที่เกิดขึ้นหลังจาก Avengers: Endgame (2019) หรือ อเวนเจอร์ส: เผด็จศึก ถือว่าเป็นเรื่องที่น่ากังวลพอสมควรของแฟนคลับภาพยนตร์แนวนี้ ทั้งการที่ภาพยนตร์หลายเรื่องในจักรวาลมาร์เวลมีคุณภาพลดลงไปและยังไม่สามารถทำรายได้เป็นกอบเป็นกำได้เหมือนยุคก่อน ทั้งยังมีการล่มสลายของจักรวาลภาพยนตร์ดีซีจากปัญหาภายในองค์กรจนต้องรีเซ็ตมาเริ่มต้นกันใหม่หมด แต่ท่ามกลางวิกฤตนี้ก็ยังมีภาพยนตร์อย่าง Spider-Man: Across the Spider-Verse หรือ สไปเดอร์-แมน: ผงาดข้ามจักรวาลแมงมุม ที่โดดเด่นขึ้นมา จนหลายคนถึงกับกล่าวว่ามันเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับวงการภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่และภาพยนตร์แอนิเมชั่น

โดยภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาคต่อของ Spider-Man: Into the Spider-Verse (2018) หรือ สไปเดอร์-แมน: ผงาดสู่จักรวาล-แมงมุม เจ้าของรางวัลสาขาภาพยนตร์แอนิเมชั่นยอดเยี่ยมบทเวทีออสการ์ประจำปีนั้น โดยในภาคต่อนี้ถึงแม้จะมีการเปลี่ยนตัวผู้กำกับทั้งสามคนใหม่ทั้งหมด แต่ก็จะยังได้ผู้สร้างเดิมทั้ง ฟิล ลอร์ด และ คริสโตเฟอร์ มิลเลอร์ มาร่วมสร้างพหุจักรวาลให้เติบโตขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง

เมื่อเทียบกันแล้วถือว่าภาคต่ออย่าง ผงาดข้ามจักรวาลแมงมุม พัฒนาขึ้นไปมากทั้งเรื่องของงานภาพและงานแอนิเมชั่น รวมไปถึงเรื่องประเด็นที่ต้องการจะนำเสนอ โดยเฉพาะงานภาพและงานแอนิเมชั่นที่เห็นแล้วเรียกได้ว่าเหนื่อยแทนศิลปิน เพราะมีหลากหลายสไตล์สลับกันไปมาทั้งเรื่องเมื่อเดินทางไปเยือนแต่ละจักรวาล แถมในบางจักรวาลยังมีการผสมผสานหลายสไตล์สลับกันไปมาอีก เรียกได้ว่ามันเป็นผลงานที่ละเอียดในระดับที่หยุดภาพดูทีละเฟรมยังออกมาสวยได้อย่างน่าเหลือเชื่อ

ในส่วนของประเด็นเนื้อเรื่องก็ถูกขยับขยายออกไปเป็นอย่างดีเช่นเดียวกัน จากในภาคแรกที่เน้นไปที่เรื่องราวการเติบโตของไมลส์เพียงคนเดียว โดยอาจจะมีเรื่องรางของครอบครัวโมราเลสเสริมเข้ามาบ้าง แต่ในภาคนี้เราก็จะได้เห็นเรื่องราวที่เสริมสร้างมิติของตัวละครอื่น ๆ มากขึ้น เริ่มตั้งแต่ตัวของ เกว็น สเตซี่ ที่กลายมาเป็นตัวละครที่โดดเด่นที่สุดอีกตัวหนึ่งของเรื่อง หลังจากมีการปูเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างตัวของเธอและโลกที่เธอไม่เป็นที่ยอมรับขึ้นมา หรือแม้แต่ตัวละครของ ปีเตอร์ บี. พาร์กเกอร์ ที่มีมิติในด้านของความรักและครอบครัวในยอดเยี่ยมไม่แตกต่างไปจากหนึ่งในตัวละครหลักตัวใหม่อย่าง สไปเดอร์แมน 2099 หรือ มิเกล โอฮาร่า

และภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่องนี้ยังสร้างตัวละครประกอบขึ้นมาได้อย่างมีสเน่ห์ เริ่มตั้งแต่ สไปเดอร์แมนอินเดีย หรือ ปวิตร ประภาคาร ที่มาพร้อมกับสำเนียงพูดและดนตรีประกอบสุดติดหู ไปจนถึง โฮบี้ บราวน์ หรือ สไปเดอร์พังค์ อนาคิสต์ผู้มาพร้อมกับงานศิลปะประจำตัวสุดเท่ และยังเป็นชายผู้พร้อมที่จะแหกกฎเกณฑ์ทุกอย่างตามใจของตนเอง จนตัวเอกของเราอย่าง ไมลส์ ยังต้องยอมรับในความเท่ของเขา

สิ่งที่อาจจะไม่ถูกใจผู้ชมบางคนนัก ก็อาจจะเป็นเรื่องของการออกแบบฉากแอคชั่นที่เน้นความสวยงามทางด้านศิลปะมาก จนทำให้ตามการเคลื่อนไหวของมันไม่ทันบ้างในบางจังหวะ รวมไปถึงสเน่ห์ในแบบที่คล้ายกับว่าจะยกหนังสือการ์ตูนให้กลายมาเป็นแอนิเมชั่นในแบบภาคแรกที่หายไปพอสมควร และอีกอย่างหนึ่งคือเพลงประกอบในภาคนี้อาจจะฟังแล้วติดหูแล้งอยากร้องตามได้ไม่เท่าเพลงประกอบหลักในภาคแรกอย่าง Sunflower ของ สเวย์ ลี และโพสต์ มาโลน

เชื่อได้ว่าด้วยความยอดเยี่ยมในระดับนี้ จึงไม่เป็นที่แปลกใจนักที่ในตอนนี้ มันจะถูกยกขึ้นมาให้เป็นในภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่และแอนิเมชั่นที่ยอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาล และหากมันปิดไตรภาคใน Spider-Man: Beyond the Spider-Verse ได้ด้วยมาตรฐานในระดับเดียวกับกับทั้งสองภาคแรกแล้วล่ะก็ ก็อาจจะทำให้มันกลายมาเป็นหนึ่งในไตรภาคภาพยนตร์ที่ยอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาลก็เป็นได้

Comments

comments