Top Gun: Maverick – แม้จะแฝงไปด้วยความอนุรักษ์นิยมอย่างเข้มข้น แต่ก็เต็มอิ่มไปด้วยมนต์เสน่ห์ของภาพยนตร์ยุคแปดศูนย์

TOP GUN: MAVERICK — ท็อปกัน มาเวอริค

130 MIN. — 2022

Joseph Kosinski — โจเซฟ โคซินสกี้

 

***** มีการเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์เรื่อง Top Gun: Maverick หรือ ท็อปกัน มาเวอริค *****

เมื่อเสียงจากเสียงสัญญาณเตือนในห้องโดนสารดังขึ้น ก็หมายถึงความระทึกของการต่อสู้บนท้องฟ้าเริ่มต้นขึ้น แต่การจะสร้างฉากของการปะทะกันระหว่างเครื่องเจ็ทไอพ่นบนท้องฟ้า ที่สาดกระสุนและมิสไซล์เข้าใส่กันนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ทำให้หนึ่งในแนวย่อยของภาพยนตร์แอคชั่นที่ทำออกมาให้ดียากที่สุดนั้น ต้องนับรวมภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับครื่องบินรบเข้าไปด้วย นั้นเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เราไม่ได้เห็นภาพยนตร์แนวนี้ออกมากันบ่อยนัก ทำให้ผู้สร้างหลาย ๆ คน หลีกเลี่ยงไปทำภาพยนตร์แอคชั่นเกี่ยวกับเหตุการณ์ระทึกขวัญบนเครื่องบินแทน อย่างเช่น Con Air (1997), Air Force One (1997) และ Non-Stop (2014) ส่วนฉากแอคชั่นของเหล่าอากาศยานก็จะตกไปอยู่กับเฟรนไชส์ภาพยนตร์ไซไฟ อย่าง Star Wars แทน

แต่ก็มีภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่ยืดหยัดเป็นไอคอนของภาพยนตร์แนวนี้มาโดยตลอดนับตั้งแต่ยุคแปดศูนย์ ซึ่งก็คือ Top Gun หรือในชื่อภาษาไทยที่มีชื่อว่า ท็อปกัน ฟ้าเหนือฟ้า ของผู้กำกับผู้ล่วงลับ โทนี่ สก็อตต์ ซึ่งนำแสดงโดยนักแสดงหนุ่มดาวรุ่งในยุคนั้นอย่าง ทอม ครูซ ในวัยยี่สิบสี่ปี ในบทบาทของนักบินหนุ่มในเข้ามาฝึกฝนอยู่ในสถาบันที่มุ่งผลิตกลุ่มนักบินที่ยอดเยี่ยมที่สุดในโลก

จนเมื่อเวลาผ่านพ้นไปเกือบสองทศวรรษ ความโดดเด่นของภาพยนตร์สิงห์คันโยกเรื่องนี้ก็ยังไม่มีใครมาล้มลงไปได้ แต่แฟน ๆ ที่รอของการมาถึงของภาคต่อก็ต้องผิดหวัง เมื่อการพัฒนาต้องหยุดลงไปหลังจากการตัดสินใจทำอัตวินิบาตกรรมของผู้กำกับ โทนี่ สก็อตต์ ในปี 2012 แต่ก็เหมือนเป็นปาฏิหาริย์ เมื่อภาคต่อภาพยนตร์ของภาพยนตร์ล้มลุกคลุกคลานในการสร้างภาคต่อมาหลายสิบปีนี้ ก็ได้ถูกสร้างขึ้นจนได้ภายใต้การควบคุมของผู้กำกับ โจเซฟ โคซินสกี้ ที่เคยฝากผลงานไว้กับภาพยนตร์อย่างไซไฟ Tron: Legacy (2010) ทั้งยังผ่านการร่วมงานกับนักแสดงนำอย่าง ทอม ครูซ ในภาพยนตร์โลกหลังการล่มสลาย อย่าง Oblivion (2013) และร่วมงานนักแสดงสมบทบอย่าง ไมล์ส เทลเลอร์ ในภาพยนตร์นักดับไฟป่าหฤโหด Only the Brave (2017)

โดยภาคต่อนี้จะเป็นเรื่องราวของตัวเอกคนเดิม อย่าง พีท ‘มาเวอริค’ มิทเชล (ทอม ครูซ) ที่ผ่านไปเป็นเวลากว่าสามสิบปีแล้ว หลังจากที่เขาเข้าศึกษาในสถาบันท็อปกัน จนเขากลายมาเป็นนักบินอาวุโสที่ยศยังไม่ไปถึงไหน เนื่องจากไม่ยอมเลื่อนขั้นเป็นระดับนายพล เพราะว่ากลัวจะไม่ได้ได้จับคันโยกที่เขารักอีก ซึ่งในคราวนี้เขาที่เป็นนักบินทดสอบยุทโธปกรณ์ของกองทัพเรือ ต้องกลับไปยัง ท็อปกัน อีกครั้ง ก่อนที่เขาจะถูกปลดประจำการ เพื่อที่จะไปฝึกสอนนักเรียนรุ่นใหม่ที่จะต้องไปทำภารกิจสุดโหดหิน ที่พวกเขาอาจจะไม่มีโอกาสรอดกลับมา โดยหนึ่งในนักเรียนเหล่านี้เป็นลูกชายของ กูส เพื่อนรักผู้ล่วงลับของเขา ที่มีชื่อว่า แบรดลี่ย์ ‘รูสเตอร์’ แบร็ดชอว์ (ไมล์ส เทลเลอร์)

แน่นอนว่าเนื้อเรื่องย่อดังกล่าวก็ถือว่าซํ้าซาก ทั้วในเรื่องของความตกตำ่ของยอดนักบินในยุคสมัยแห่งอากาศยานไร้คนขับ หรือไม่ก็เรื่องของตัวละครหลักหัวรั้นผู้ต้องมาเป็นอาจารย์จำเป็น แต่จังหวะจะโคนของ ท็อปกัน มาเวอริค กลับทำให้ความเชยเหล่านี้ออกมาน่าสนใจมากกว่าที่คาดเลยทีเดียว ทั้งฉากแอคชั่นสุดแบบหัวใจที่เริ่มต้นขึ้นนับตั้งแต่ฉากเปิดเรื่อง กับการขึ้นไปถึงความเร็ว 10 มัค ของเครื่องดาร์กสตาร์ ตลอดจนฉากของการบินทดสอบในเวลาสองนาทีสิบห้าวินาที และการต่อสู้ขับไล่ในตอนท้ายที่สุดของเรื่อง ล้วนแล้วแต่ถูกออกแบบและสร้างขึ้นมาเป็นอย่างดี ตอบสนองความต้องการของทั้งแฟนภาพยนตร์ที่เข้าใจและไม่เข้าใจวิธีการต่อสู้ระหว่างอากาศยานเหล่านี้ รวมไปถึงการถ่ายทอดบรรยากาศของอย่างช้า ๆ ของสภาพแวดล้อมรอบตัวของนักแสดง รวมไปถึงชีวิตประจำวันที่พวกเขาและเธอทำ ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาพยนตร์ในยุคสมัยใหม่นี้ไม่ค่อยจะทำกันนัก อย่างเช่น ฉากการขับรถมอเตอร์ไซค์ของ มาเวอริค หรือการแล่นเรือใบระหว่างเขากับ เพนนี่ (เจนนิเฟอร์ คอลเนลลี่) ก็เป็นฉากที่ชวนให้คิดถึงบรรยากาศของภาพยนตร์ยุคก่อนหน้าได้อย่างมากมายเลยทีเดียว

การแสดงของ ทอม ครูซ ในบทบาทของ มาเวอริค ก็ทำได้ยอดเยี่ยม จนเหมือนกันว่าเขาถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นตัวละครนี้ ในแบบเดียวกับที่เขาเป็น อีธาน ฮันท์ ในเฟรนไชส์ยอดจารชน มิชชั่น อิมพอสซิเบิ้ล โดยเฉพาะอย่างยิ่งฉากดราม่าที่เขาต้องเข้าคู่กับ ไอซ์แมน (วาล คิลเมอร์) ที่ทำให้เราได้ดูว่ายอดนักแสดงมากประสบการณ์คนนี้ ไม่ได้มีดีแต่การเล่นฉากแอคชั่นเสี่ยงชีวิตเท่านั้น แต่ความสามารถของเขาในการเข้าถึงอารมณ์แห่งความเศร้า ความผิดหวัง และการไม่ปล่อยวาง ก็ไม่ได้ด้อยไปกว่ากันเลย

แต่เรื่องหนึ่งที่อาจจะถูกติติงได้ตามรสนิยมของผู้ชมใน ท็อปกัน มาเวอริค ก็คือเรื่องของความอนุรักษ์นิยมของมัน ในประเด็นของการเชิดชูคนในเครื่องแบบ ทำให้ผู้ชมบางส่วนอาจจะมองว่ามันบ้ายศบ้าเครื่องแบบอยู่พอสมควร แต่ในความคิดเห็นส่วนตัวแล้ว นอกเหนือไปจากฉากที่ มาเวอริค สวมชุดนายทหารเรือมาที่บาร์ของ เพนนี ก็ไม่ได้มีฉากไหนในภาพยนตร์ที่แสดงความอนุรักษ์นิยมดังกล่าวออกมาอย่างน่าเกลียดแต่อย่างใด

โดยสรุปแล้ว ถึงแม้ ท็อปกัน มาเวอริค จะมีโครงสร้างที่ออกจะเชยไปสักหน่อย และยังมีเส้นเรื่องที่แอบจะเดาง่าย อีกทั้งยังแฝงไปด้วยความอนุรักษ์นิยมอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะการเชิดชูอาชีพในเครื่องแบบ แต่มันก็เต็มอิ่มไปด้วยมนต์เสน่ห์ของภาพยนตร์ยุคแปดศูนย์ที่หาได้ยากแล้วในยุคสมัยนี้ ความหอมหวานแห่งยุคสมัยดังกล่าวทำให้เรายอมรับความเก่งกาจของ มาเวอริค ที่แทบจะเป็นยอดมนุษย์อยู่แล้วได้อย่างไม่กังขา และต้องยอมรับอีกอีกหนึ่งว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ที่สร้างฉากแอคชั่นของอากาศยานได้ยอดเยี่ยมจนแทบจะหาคู่แข่งได้ยากเลยทีเดียว

Comments

comments