Aftersun — เก็บซ่อนความเจ็บปวดที่เกินกว่าใครจะเข้าใจ ภายใต้ภาพของครอบครัว

AFTERSUN — อยากให้อยู่นานกว่านี้

102 MIN. — 2022

Charlotte Wells — ชาร์ล็อต เวลส์

 

 

Aftersun หรือ อยากอยู่ให้นานกว่านี้ เป็นภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของผู้กำกับหญิงเชื้อสายสก็อตติช ชาร์ล็อต เวลส์ ที่ได้เข้าฉายพร้อมทั้งกวาดรางวัลและได้รับคำชมมากมายจากเทศกาลภาพยนตร์ทั่วโลก โดยภาพยนตร์เรื่องนี้บอกเล่าถึงเรื่องราวข องความทรงจำอันเลือนรางระหว่างพ่อและลูกสาว ที่เกิดขึ้นขณะที่ไปพักร้อนด้วยกันในตอนที่เธออายุได้สิบเอ็ดปี

โดยสไตล์การทำภาพยนตร์เรื่องนี้จะเป็นไปในรูปแบบที่นอกกระแสอยู่พอสมควร โดยจะดำเนินเรื่องไปอย่างช้า ๆ ปล่อยให้ผู้ชมซึมซับบรรยากาศและอารมณ์ที่ผู้กำกับตั้งใจที่จะนำเสนอ คล้ายกับภาพยนตร์เรื่อง The Florida Project (2017) ของผู้กำกับ ฌอน เบเกอร์ ที่เป็นเรื่องราวชีวิตของแม่เลี้ยงเดี่ยวและลูกสาววัยเยาของเธอ ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องคล้ายกันกับ Aftersun อยู่พอสมควร แต่หากเปรียบเทียบกันอย่างละเอียดแล้ว ภาพยนตร์ของ ฌอน เบเกอร์ ดูจะมุ่งเน้นในประเด็นทางสังคมอย่างในประเด็นของคนชายขอบในสหรัฐอเมริกา แตกต่างจากภาพยนตร์เรื่องนี้ที่มุ่งเน้นไปที่ประเด็นทางอารมณ์แทบจะทั้งหมด ผ่านทางตัวละครชายที่ต้องทุกข์ทรมาณจากอาการป่วยทางจิต คาลัม ผู้เป็นพ่อซึ่งไม่ได้อยู่ร่วมกันกับ โซฟี ลูกสาวของเขาเนื่องจากต้องเลิกรากับผู้เป็นแม่ของเธอไป

โดยตัวละคร คาลัม ถูกถ่ายทอดออกมาได้เป็นอย่างดีโดย พอล เมสคัล นักแสดงหนุ่มชาวไอริช ผู้เริ่มสร้างชื่อเสียงในวงการการแสดงมาจากมินิซีรีส์แนวโรแมนติก-ดราม่า Normal People (2020) ร่วมกับนักแสดงสาว เดซี เอ็ดการ์-โจนส์ โดยเขาแสดงเป็นพ่อที่ชีวิตในวัยเด็กที่ไม่ได้สมบูรณ์แบบนัก และพยายามจะไม่ส่งต่อความเจ็บปวดดังกล่าวนั้นไปสู่ลูกสาวของเขาที่รับบทโดย แฟรงกี้ คอริโอ การแสดงของ เมสคัล ถึงแม้จะไม่ได้ระเบิดอารมณ์ออกมามายมาย แต่ก็สะท้อนให้เห็นถึงความเจ็บปวดในตัวของเขา ที่ไม่ได้มีความสำเร็จในชีวิตที่จับต้องได้ ทั้งในเรื่องของการทำงานและความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว ได้เป็นอย่างดี ทั้งที่แสดงออกมาผ่านทางนำ้เสียง และผ่านทางองค์ประกอบเล็ก ๆ ผ่านทางสีหน้าและแววตาอีกด้วย

และสิ่งที่ถูกแสดงออกมาผ่านมุมมองของลูกสาวอย่าง โซฟี ก็ถือว่าเป็นมุมมองที่ทำให้ผู้ชมหลายคนได้มองย้อนไปยังการกระทำในอดีตของตัวเอง ว่าการเติบโตขึ้นมาภายใต้การเลี้ยงดูโดยพ่อแม่ที่มีอาการทางจิตมันยากลำบากเพียงใด และได้มองเห็นว่าการกระทำที่ตนเองคิดว่ามีเหตุผลในตอนนั้น มันทำร้ายคนเป็นพ่อแม่ของเราอย่างไร

ซึ่งการที่ตัวภาพยนตร์ไม่ได้มีฉากระเบิดอารมณ์ออกมาเลยในแบบภาพยนตร์ดราม่าทั่วไป ทำให้การตอบสนองของผู้ชมแต่ละคนจะแตกต่างกันออกไปสุดขั้ว สำหรับผู้ชมบางคนที่ไม่ได้มีประสบการณ์ชีวิตในเรื่องของความสัมพันธ์ในครอบครัวที่เต็มไปด้วยความอึดอัด อาจจะไม่เข้าใจและไม่มีอารมณ์ร่วมไปกับเรื่องราวของตัวภาพยนตร์แม้แต่นิดเดียวเลยก็ได้ ส่วนผู้ชมที่มีประสบการณ์ร่วมที่ค่อนข้างตรงก็อาจจะเสียนํ้าตาให้กับภาพยนตร์ตลอดทั้งเรื่องก็เป็นไปได้

อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ภาพยนตร์ออกมาเป็นเช่นนี้ คาดเดาว่าเรื่องราวของมันคงจะอ้างอิงมาจากประสบการณ์ส่วนตัวของผู้กำกับ ชาร์ล็อต เวลส์ เอง สังเกตได้จากการที่ คาลัม เกิดและเติบโตที่เมืองเอดินบะระ และย้ายมาใช้ชีวิตในวัยผู้ใหญ่ที่ลอนดอน เช่นเดียวกับตัวของผู้กำกับหญิงเอง ที่เกิดและเติบโตที่เมืองเอดินบะระก่อนจะที่ย้ายเข้ามาเรียนที่มหาวิทยาลัยในลอนดอน

เมื่อเขียนมาจนถึงตอนนี้แล้ว ก็พบว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์เขียนสรุปส่งท้ายได้ออกมายากพอสมควร โดยสิ่งที่พอจะตกตะกอนออกมาได้หลังจากการรับชม คือ การที่ได้เข้าใจถึงความเจ็บปวดจากการเติบโตขึ้นมาโดยมีบาดแผลบางอย่างฝังไว้ในใจ ซึ่งเมื่อถึงคราวที่ต้องมาเป็นพ่อคนแม่คนบ้างแล้วนั้น ก็ไม่ใช้เรื่องง่ายเลยที่จะไม่ส่งต่อความเจ็บปวดนั้นไปยังลูกของตัวเอง และก้าวข้ามความเจ็บปวดเหล่านั้นไปได้อย่างหมดจด

และก็ทำให้เข้าใจการกระทำของ คาลัม ได้ว่า สิ่งใดเป็นเหตุผลที่ทำให้เขาต้องแสดงและเก็บซ้อนบางอย่างไม่ให้ลูกสาวของตัวเองเห็นในแบบนั้น ทั้งบาดแผลในอดีต, ความรู้สึกไม่มั่นคงในตัวเอง และวิธีการที่เขามองเห็นตัวเองอย่างต้อยตำ่มาตลอด

รวมไปถึงความจริงที่ว่า การเลี้ยงใครสักคนขึ้นมาเป็นเรื่องยากเกินกว่าที่จะจินตนาการ ซึ่งบางทีสิ่งที่ง่ายและควบคุมได้มากที่สุดอาจจะเป็นเพียงแค่ การทาครีมกันแดดให้กับเธอ

หากใครสนใจที่จะนำเอาตัวเองไปเปิดรับประสบการณ์จากภาพยนตร์ที่จะสะท้อนให้เห็นถึงความเจ็บปวดบางอย่างภายในใจของผู้ชมเรื่องนี้ Aftersun หรือ อยากอยู่ให้นานกว่านี้ ยังคงเข้าฉายแบบจำกัดโรงภาพยนตร์อยู่ในตอนนี้

และหากคุณรู้สึกเชื่อมโยงกับภาพยนตร์เรื่องนี้ขึ้นมาแล้วล่ะก็ เพลง Under Pressure ของ ควีนส์ และ เดวิด โบวี จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

Comments

comments