SCALA — เมื่อการหายไปของโรงภาพยนตร์อันเป็นที่รัก ผ่านมุมมองของหญิงสาวคนหนึ่งเป็นมากกว่าเรื่องส่วนตัว

SCALA — ที่ระลึกรอบสุดท้าย

65 min. — 2022

Ananta Thitanat — อนันตา ฐิตานัตต์

 

 

ในวันศุกร์ที่ 16 ธันวาคมที่ผ่านมา ได้มีการจัดฉายภาพยนตร์เรื่อง “SCALA” หรือในชื่อภาษาไทยที่มีชื่อว่า “ที่ระลึกรอบสุดท้าย” ซึ่งเป็นรอบพิเศษที่จัดขึ้นที่โรงภาพยนตร์พหลโยธินรามา โรงภาพยนตร์แบบสแตนอโลนเพียงไม่กี่แห่งเหลืออยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส สะพานควาย

โดยการจัดฉายรอบพิเศษในครั้งนี้มีความน่าสนใจอยู่ตรงที่สถานที่ที่ทำการจัดฉาย ซึ่งเป็นโรงภาพยนตร์แบบสแตนอโลนที่ถูกสร้างขึ้นในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันกับภาพยนตร์ที่เป็นเนื้อหาหลักของสารคดีในยุคต้นของช่วงทศวรรษ 2500 โดยมีโรงหนึ่งที่ยังคงเปิดทำการอยู่ แม้กิจการจะทรุดโทรมลงไปตามกาลเวลามากแล้วก็ตามที ส่วนอีกโรงหนึ่งนั้นได้ถูกทุบทำลาย และกำลังจะกลายเป็นห้างสรรพสินค้าหรูอีกแห่งหนึ่งที่จะมาเติมเต็มพื้นที่ศูนย์การค้าครบวงจรผุดขึ้นมาแทน

เมื่อเข้าเดินทางเข้ามาโรงบริเวณหน้าโรงภาพยนตร์ ก็จะเห็นโปสเตอร์ภาพยนตร์ทั้งไทยและเทศมากมายที่สีซีดเซียว ติดกันเรียงรายอยู่ด้านหลังของกระจกใสที่ปัจจุบันนี้ขุ่นมัวไปมาก คงเพราะไม่มีใครมาดูแลทำความสะอาดเท่าใดนัก โดยมีตั้งแต่ ช็อคโกแลต (2008) ของผู้กำกับ ปรัชญา ปิ่นแก้ว ไปจนถึง Charlie’s Angels (2019) ของ Elizabeth Banks

ด้านหน้าของโรงภาพยนตร์มีเคาน์เตอร์สำหรับขายตั๋วเล็ก ๆ อยู่ประมาณสี่ถึงห้าช่อง ในวันปกติธรรมดาจำนวนช่องขายตั๋วเท่านี้คงจะมาเกินพอสำหรับการให้บริการลูกค้า แต่ในวันพิเศษเช่นนี้ จำนวนผู้มารำลึกความหลังถึงโรงภาพยนตร์อันเป็นที่รักของพวกเขามีจำนวนมากเกินกว่าที่จะรับไหว ผู้ชมจึงต้องต่อแถวรับตั๋วภาพยนตร์และโปสเตอร์กันอย่างหนาแน่น โดยสังเกตเห็นได้ว่ามีผู้ชมชาวต่างชาติเข้ามาต่อแถวอยู่ด้วยจำนวนหนึ่ง

โดยโรงภาพยนตร์พหลโยธินถือว่าเป็นโรงภาพยนตร์ที่มีขนาดใหญ่ที่มีขนาดราว 1,000 ที่นั่ง ประมาณด้วยสายตาคงมีความสูงประมาณตึก 3 ชั้น มีทางเดินเข้าไปในโรงภาพยนตร์เมื่อผ่านโถงทางเข้าใหญ่อยู่ 3 ทาง เมื่อเดินผ่านเข้าไป จะมองเห็นเก้าอี้สีแดงเรียงรายอยู่ท่ามกลางความมืดทั้งด้านบนและด้านล่างของบันไดทางเข้า มองไปด้านบนจะพบกับฝ้าเพดานที่มีรูรั่วอยู่ประประปรายและมีรอยของเชื้อราที่เกิดจากนำ้ฝนที่รั่วลงมาจากเพดานกระจายไปทั่วทั้งบนฝ้าและผนังของโรงภาพยนตร์ เมื่อเดินเข้าไปในโรงภาพยนตร์ไปจนถึงที่เบาะนั่งที่มีลักษณะคล้ายเบาะรถโดยสารสาธารณะเก่า ๆ ที่ปริแตกจนฟองนํ้าด้านในโผล่ทะลุออกมาให้เห็น ระหว่างทางจะได้กลิ่นบางอย่างของสถานที่ซึ่งชัดเจนมาก ๆ โชยออกมา ซึ่งออกจะคล้ายและชวนให้นึกถึงกลิ่นของสถานที่เก่าแก่ที่เคยมีคนเข้าออกเป็นจำนวนมากในอดีต อย่างสถานีรถไฟหัวลำโพงอยู่เหมือนกัน

ก่อนที่ภาพยนตร์จะเริ่มฉาย ได้มีการพูดคุยก่อนการฉายอยู่เป็นระยะเวลาสั้น ๆ เพื่อแนะนำตัวภาพยนตร์อยู่ประมาณสิบนาที โดยผู้กำกับอย่าง แก๊ป-อนันตา ฐิตานัตต์ เมื่อได้รับมอบหมายให้พูดเธอกลับกล่าวเพียงแค่สั้น ๆ ว่า “ขอให้ดูให้สนุกค่ะ” ซึ่งก็ดูเหมือนจะสะท้อนบุคลิกของเธอที่ดูจะเป็นคนที่ค่อนข้างจะมีความเขินอายอยู่พอสมควร

ในส่วนของภาพยนตร์มีความยาวไม่มากนัก ประมาณหนึ่งชั่วโมงเศษ โดยใช้วิธีการดำเนินเรื่องคล้ายกับภาพยนตร์สารคดีทั่วไป โดยฟุตเทจประกอบกับเสียงพูดคุยบรรยาย ซึ่งโดยปกติแล้วมักจะเป็นเสียงว๊อยซ์โอเวอร์ที่จะถูกเพิ่มเข้าไปเมื่ออยู่ในช่วงของการตัดต่อหรือทำ Post-Production แต่สำหรับงานกำกำกับของอนันตา เธอกลับใช้เสียงพูดคุยของตัวละครจริง ๆ ที่อยู่ในฟุตเทจทำการเล่าเรื่องแทน โดยการใช้วิธีการเช่นนี้จะทำให้ผู้ชมได้สัมผัสตัวภาพยนตร์ในลักษณะที่คล้ายกับการไปนั่งฟังบทสนทนาเหล่านั้นเองมาก เนื่องจากจะมีการแช่กล้องไว้ในซีนต่าง ๆ เป็นระยะเวลานานโดยไม่มีการตัดสลับไปมา โดยเราจะได้เห็นอดีตพนักงานของโรงภาพยนตร์สกาล่า พูดคุยกันในทุกประเด็น ตั้งแต่ความหลังเกี่ยวกับโรงภาพยนตร์แห่งนี้ ไปจนถึงเรื่องชีวิตประจำวัน อย่างเช่นว่ามีใครถูกลอตเตอรี่ในงวดนี้บ้าง หรือแม้กระทั่งถามไถ่ถึงความเป็นอยู่ของผู้อยู่หลังกล้องอย่างอนันตา

สิ่งที่ต้องชื่นชมประการหนึ่งคือผู้กำกับซึ่งเป็นผู้ถ่ายฟุตเทจเองอย่างอนันตา ได้ถ่ายช็อตต่าง ๆ ออกมาได้สวยงามมาก ทั้งองค์ประกอบและการใช้แสงสีที่ทำให้เห็นถึงความใส่ใจนรายละเอียด ซึ่งการที่เธอถ่ายแต่ละช็อตออกมาได้สวยงามเช่นนี้ ก็ทำให้ความรู้สึกเศร้าโศกที่ทำงานกับผู้ชม เมื่อได้เห็นภาพของโรงภาพยนตร์ที่มีอายุมากกว่าครึ่งศตวรรษต้องค่อย ๆ ถูกรื้อถอนด้วยมือของอดีตพนักงานที่เคยทำงานที่นี่ ยิ่งชวนให้ดำดิ่งลงไปในความรู้สึกของอดีตพนักเหล่านี้ตามไปด้วย ทั้งเสียงของผ้าม่านที่ถูกฉีกออก, เสียงของแผ่นไม้ที่ถูกงัดออกด้วยค้อนโลหะ ไปจนถึงเสียงของน็อตตัวเล็ก ๆ ที่คอยยึดเบาะนั่งให้อยู่กับที่ถูกขันออกไปทีละตัว สิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ ชวนให้นึกถึงภาพยนตร์อย่าง A Ghost Story (2017) ของ David Lowery ที่มอบหน้าที่ให้เราเป็นวิญญาณที่เฝ้ามองสถานที่แห่งหนึ่งกำลังถูกรื้อถอนออกไป ทำให้ผู้ชมที่อาจจะไม่ได้มีความคุ้นเคยกับสกาล่ามากนัก สามารถมีอารมร์ร่วมไปกับตัวภาพยนตร์ได้

ประเด็นความดราม่าของตัวภาพยนตร์ยังถูกส่งเสริมด้วยประเด็นส่วนตัวของอนันตา ในฐานะที่เธอใช้ชีวิตในวัยเด็กอยู่ร่วมกับโรงภาพยนตร์เครือเอเพ็กซ์ ซึ่งเป็นทั้งบ้านและสนามเด็กเล่นของเธอ เธอได้ผ่านทั้งเหตุการณ์เพลิงไหม้โรงภาพยนตร์ลิโดในปี พ.ศ. 2536 และเหตุการณ์เพลิงไหม้โรงภาพยนตร์สยามในปี พ.ศ. 2553 รวมถึงการสอดแทรกเหตุการณ์ทางการเมืองทั้งในอดีตและเหตุการณ์ร่วมสมัยลงไป ก็ยิ่งจะทำให้เราเข้าใจเป็นอย่างดีว่าโรงภาพยนตร์แห่งนี้มีความสำคัญในแง่ประวัติศาสตร์อย่างไร

สิ่งที่อาจจะถือว่าเป็นข้อด้อยเพียงเล็กน้อยของตัวภาพยนตร์ ก็คือเสียงวอยซ์โอเวอร์ที่อนันตาใช้เล่าเรื่องราวของตัวเอง ซึ่งถึงแม้จะมีไม่มากนัก แต่ฟังดูแล้วไม่ค่อยจะเข้ากับโทนของภาพยนตร์นัก เนื่องจากเสียงของอนันตาเองที่ออกจะมีความเขินอายแฝงอยู่ในนำ้เสียง ทำให้อารมณ์ร่วมของเสียงดังกล่าวขัดกับตัวภาพยนตร์ไป แต่ก็เป็นความจำเป็นของตัวผู้กำกับที่ถึงแม้จะพูดไม่ค่อยเก่ง แต่ก็พยายามที่จะเล่าเรื่องราวของตัวเองออกมา

ถือว่าภาพยนตร์สาคดีเรื่องนี้ถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆ ออกมาได้อย่างครบถ้วนและเต็มไปด้วยอารมณ์ จากจุดเริ่มต้นของผู้กำกับที่เพียงแค่จะออกไปถ่ายวิดีโอด้วยความโกรธ ในวันที่รู้ว่าเจ้าของสถานที่จะทุบทำลายสถานที่อันเป็นที่รักของเธอ

ถึงแม้เธอจะห้ามไม่ให้โรงภาพยนตร์อันเป็นที่รักของเธอต้องสูญหายไปไม่ได้ แต่อย่างน้อยเธอก็ควรจะได้รู้ว่าจุดเริ่มต้นที่เกิดจากความ “อยากถ่ายให้เขารู้สึกเสียดาย” ที่ในตอนแรกดูเหมือนจะเป็นเรื่องส่วนตัวของเธอ แต่กลายเป็นว่ามันได้เริ่มทำงานกับความรู้สึกของคนที่ได้รับชมภาพยนตร์ของเธอจำนวนไม่น้อยแล้วอย่างแน่นอน

SCALA เป็นภาพยนตร์ประเภทสารคดีที่ได้รับเลือกให้ฉายในเทศกาลภาพยนตร์ดังอย่าง Berlin Film Festival ครั้งที่ 72 ในสาย FORUM และได้เข้าชิงรางวัล Berlinale Documentary Award และ Caligari Film Award รวมทั้งได้ฉายในเทศกาล IDFA หรือ International Documentary Filmfestival Amsterdam ในสาย Best of Fests

โดยยังคว้ารางวัล Grand Jury Prize จากเทศกาลภาพยนตร์ World Film Festival of Bangkok และรางวัล Youth Eye Award จากเทศกาลภาพยนตร์ EBS International Documentary Festival รวมทั้งเข้าฉายในเทศกาล BaliMakarya ที่อินโดนิเซีย และเข้าชิงรางวัล Southeast Asian Documentary Competition นอกจากนี้ยังได้รับเลือกให้ฉายในเทศกาลอีกหลายแห่ง เช่น Painting With Light 2022 – Festival of International Films on Art, Asian Film Joint, Hong Kong Asian Film Festival, Perspectives Film Festival, Luang Prabang Film Festival

โดย SCALA จะเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ทั่วไปในวันที่ 22 ธันวาคมที่จะถึงนี้

ขอบคุณข้อมูลจาก SCALA Documentary

Comments

comments