ดับเครื่องชนด้วยแพชชั่น! คุยกับ ปลั๊ก และซิท
สองคนไทยเบื้องหลังงาน VFX ใน Thor: Love and Thunder
ผ่านมาแล้วมากกว่าสัปดาห์ที่ภาพยนตร์ Thor: Love and Thunder เข้าฉาย หลายคนคงได้เข้าไปชมความยอดเยี่ยมของภาพยนตร์เรื่องนี้แล้ว ทั้งมุกฮา หัวใจของเรื่อง เนื้อหาที่ตลกขบขันแต่ก็ซ่อนประเด็นที่ชวนให้เรากลับมาฉุกคิดถึงชีวิตของตัวเองอีกครั้ง แต่สิ่งหนึ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้เลยก็คือ งานภาพของภาพยนตร์ ทั้งการจัดองค์ประกอบ แสงสี หรืองานวิชวลเอฟเฟกต์ ที่ยังคงสไตล์อันแสนจัดจ้านของผู้กำกับไทก้า ไวตีติอยู่เช่นเคย
แต่รู้หรือไม่ว่าเบื้องหลังงาน VFX สุดงามของเรื่องนี้ มีศิลปิน VFX ชาวไทยร่วมทีมอยู่ด้วย ซึ่ง Thailand Box Office ได้มีโอกาสพูดคุยสัมภาษณ์กับ คุณปลั๊ก โสภณ หนูนุรัตน์ และคุณซิท สรายุทธ โต๊ะหมาด ขอบอกเลยว่ากว่าที่ทั้งสองคนจะได้ก้าวไปวาดลวดลายแสดงฝีมือได้นี่ พวกเขาผ่านการดับเครื่องชนเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมาย เป็นการดับเครื่องชนด้วยแพชชั่นอันแรงกล้าที่เราอยากจะแชร์ให้ทุกคนได้รู้จักพวกเขากัน
อยากให้ทั้งสองท่านแนะนำตัว แล้วก็อธิบายงานและหน้าที่ที่ทำสั้น ๆ
ซิท: ผมซิท สรายุทธ ครับ ทำหน้าที่ตำแหน่ง Effects Technical Director (FX TD) ครับ
ปลั๊ก: ผม ปลั๊ก โสภณ ทำอยู่ตำแหน่งเดียวกัน แล้วก็อยู่ในทีมเดียวกันด้วยครับ
ซิท: หน้าที่ที่รับผิดชอบใน Thor: Love and Thunder พวกผมจะดูในเรื่องของการสร้างสายฟ้า แล้วก็ฉากที่ข้าวของถูกทำลายต่าง ๆ พวกควัน ฝุ่น ไอพ่น หรือไฟที่ปรากฎอยู่ในเรื่อง บริษัทของผมจะรับผิดชอบในฉากของดาวดวงแรกที่เป็นฉากเปิดของเรื่องครับ
ปลั๊ก: ปกติแล้วหนังจะใช้หลายบริษัทในการดูแลเรื่อง VFX ครับ พวกผมได้ดูฉากนี้ อีกบริษัทหนึ่งก็จะรับผิดชอบฉากในอีกโลเคชั่นหนึ่ง เพราะต้องป้องกันเรื่องเนื้อหาที่จะหลุดออกไปด้วย อย่างพวกผมก็จะรู้แค่ในฉากนี้เท่านั้น
การทำงานในบริษัทต่างชาติที่ต้องรับผิดชอบงานระดับนี้ ต่างจากการทำงานในไทยยังไงบ้าง
ปลั๊ก: สิ่งที่เห็นได้ชัดเลยก็คือ ที่นี่เขาจะพยายามเซฟเอเนอจี้ของพนักงานครับ เขาอาจจะขอให้เราทำงานเพิ่มในช่วงวันเสาร์อาทิตย์บ้าง แต่เขาจะไม่ให้เราทำงานล่วงเวลาในวันปกติเลยครับ เวลาเลิกงานก็คือเลิกงาน ด้วยวัฒนธรรมของเขาแล้ว เขาไม่ชอบให้คนทำงานล่วงเวลา แต่คนไทยส่วนใหญ่จะแพชชั่นสูงมาก ขยันมาก ทั้ง ๆ ที่หัวหน้าไม่ได้บอกให้ทำ แต่พอเราเห็นว่ามันยังไม่ดีพอ ก็ตัดสินใจทำต่อ คนต่างประเทศเลยชอบในส่วนนี้มากเลยครับ อย่างในบริษัทผมก็มีคนไทยคนอื่น ๆ ในตำแหน่งอื่น ๆ อีกหลายคนเลย อีกเรื่องคือการแบ่งหน้าที่ในการทำงานครับ ในไทยคนหนึ่งอาจจะต้องทำหลายหน้าที่ แต่ที่นี่เขาจะแบ่งกันอย่างชัดเจน หัวหน้าเองเขาก็จะดีกับลูกน้องมากครับ พอถึงเวลาที่งานมันดูเหมือนจะออกมาไม่ดีพอ แต่ใกล้จะถึงกำหนดส่งแล้ว เขาก็เลือกที่จะติดต่อไปหาลูกค้า แล้วขอเลื่อนเดดไลน์ มากกว่ามากดดันลูกน้อง เวลาทำงานก็เน้นการทำงานเป็นทีม โดยไม่เกี่ยงตำแหน่ง ไม่ถือตัว หัวหน้าลูกน้องเป็นเพื่อนร่วมงานกันหมด
ซิท: เรื่องภาษาก็สำคัญครับ เราเองที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก เราไม่สามารถพูดออกมาเหมือนที่คิดได้ทั้งหมด แต่ตอนทำงานจริงก็แทบไม่มีปัญหานะครับ เพราะส่วนใหญ่มันเป็นศัพท์เทคนิดซึ่งเรามักจะรู้กันอยู่แล้ว เรื่องแก้งานตามคอมเม้นท์ต่างๆมันก็เข้าใจได้ไม่ยากครับ อย่างในบริษัทที่ผมทำอยู่ก็มีคนต่างชาติเยอะ เพราะฉะนั้นหลายๆคนที่มาทำงานก็มีภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองเหมือนกับพวกเรา เราอาจจะมีจุดอ่อนด้านภาษาอยู่บ้าง แต่เมื่อเราได้ทำงานกับคนต่างชาติไปเรื่อยๆ เดี๋ยวเรื่องพวกนี้มันจะค่อยๆพัฒนาไป คู่ๆกับงานครับ ผมคิดว่าจุดแข็งของพวกเราคือความขยัน ทำให้เขามองเห็นผลงานของเรา การมาทำงานต่างประเทศมันทำให้เราต้องศึกษาวัฒนธรรม แล้วก็กฎหมายของเขามากขึ้นด้วย ทำให้มีความรับผิดชอบมากขึ้นในหลายๆด้านครับ
ปลั๊ก: เห็นด้วยเรื่องภาษาเลยครับ ภาษาเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเราต้องใช้ตลอด มันเลี่ยงไม่ได้เลย
พอจะทราบมาว่ากว่าที่ทั้งสองท่านจะได้ไปทำงานที่ทำอยู่ในตอนนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ผ่านอะไรกันมาบ้าง
ปลั๊ก: ผมเริ่มต้นทำงานที่ไทยครับ ตอนนั้นทุกอย่างเริ่มคงที่อยู่ตัว แต่ผมเริ่มรู้สึกว่าตัวเองกำลังไปเจอทางตัน ใจมันอยากจะก้าวหน้าไปมากกว่านี้ อยากทำให้ดีกว่านี้ แต่แหล่งความรู้มันไม่เอื้ออำนวยแล้ว ตอนนั้นมันเลยเหมือนการเดิมพันครั้งสำคัญของชีวิตเลยครับ สละทุกอย่าง ยอมเป็นหนี้สินเพื่อกู้ยืมไปเรียนต่อในด้านนี้โดยเฉพาะ ผมใช้เวลา 5 ปีกว่าเลยครับ ตอนแรกที่บ้านเขาก็ไม่โอเค ไม่อยากให้ไป เพราะมันเสี่ยงมาก เสี่ยงตรงที่เงินอาจจะไม่พอส่งระหว่างทางตอนไปเรียน แต่เราก็ประหยัดเงินเอา และหาเงินระหว่างเรียนที่ต่างประเทศไปด้วย จนกระทั่งครอบครัวก็เริ่มสบายใจขึ้นเพราะเงินที่เราหาเพิ่มและที่มีพอมีติดตัวอยู่บ้างพอใช้ในแต่ละเดือน ท้ายที่สุดผมก็ผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากตรงนั้นมาได้ แล้วต่อจากนั้นทุกอย่างก็ค่อย ๆ ดีขึ้น เรียนจบถึงจะเจอโควิด แต่ก็ได้ทำงานในสิ่งที่เรารัก และตอนนี้ก็ได้มาถึงฝันที่ตัวเองเคยพูดกับตัวเองไว้
ซิท: ผมมักจะมองเป้าหมายถัดไปไว้ก่อนเสมอครับ ตอนรู้ตัวว่าได้เข้ามหาลัย ก็เริ่มคิดที่มองหาที่ทำงานที่เราชอบไว้ก่อนระดับนึง พอได้เริ่มทำงานที่นั่น ก็เริ่มตั้งเป้าว่าจะทำงานที่นี่ก็ปีแล้วเริ่มออกไปหางานต่างประเทศ พอทำได้สัก 2 ปี ก็จะมีช่วงที่บอกตัวเองว่า ไม่ไหวแล้ว ใจเรามันอยากออกไปข้างนอก เลยหยุดทำงานประจำ และลาออกมารับจ็อป แต่หลักๆคือใช้เวลาพัฒนาพอร์ตเตรียมส่งไปต่างประเทศ แน่นอนว่าทำแบบนี้มันเป็นการกดดันตัวเองระดับนึง เพราะผมไม่มีงานเหมือนคนอื่น เพราะฉะนั้นเลยคิดว่าจะต้องไม่เสียเวลาแต่ละนาทีไปฟรีๆ เพราะทั้งยังได้กลับบ้านแค่ปีละครั้งตั้งแต่เข้ามหาลัย แต่ทุกอย่างก็เริ่มลงตัวตามแผน
ผมได้งานที่แรกจากที่ผมเองเป็นคนชอบโพสผลงานในเฟสบุ๊ค จนผมได้เข้ากระบวนการทำวีซ่า ซึ่งมีรุ่นพี่ที่ทำงานอยู่ที่นั่นคอยแนะนำขั้นตอนเป็นระยะ ผมไม่รู้มาก่อนว่าต้องทำอะไรบ้าง ไม่ได้เตรียมตัวอะไรเต็มที่เลย มีแค่ความมุ่งมั่นที่อยากทำงาน การสอบ IELTS ที่ต้องใช้เพื่อยื่นในการทำวีซ่าก็เพิ่งรู้จักตอนนั้นเลย สอบตกไป 2 รอบ กำเงินเก็บก้อนสุดท้ายไว้แต่แล้วสอบก็ผ่านไปได้ แต่การบินข้ามทวีปครั้งแรกก็มีเรื่องให้เครียด เครื่องบินหยุดที่ดูใบเพื่อไปต่อเครื่องอีกลำ
นั่นก็เป็นการตกเครื่องครั้งแรกและติดอยู่ที่ดูไบ 6 ชม. เพราะผมคิดว่าต้องไปหยิบกระเป๋าอีกที่แล้วขึ้นเครื่องลำถัดไป เหมือนตัวคนเดียวในสนามบิน แต่ก็มีพนักงานคนไทยใจดีออกตั๋วใหม่ให้ฟรี ส่วนเงินที่มีก็พอแค่สำหรับการใช้ชีวิตแค่เดือนเดียวเท่านั้น พอได้ทำงานและเงินเดือนแรกออก ผมโล่งเลยครับ (หัวเราะ) ช่วงแรก ๆ ที่บ้านเองก็กังวล แต่ก็ไม่ได้บอกเรื่องราวต่างๆให้เขาคิดมาก พยายามทำให้เขามั่นใจว่าเราสามารถเอาตัวรอด แล้วก็ใช้ชีวิตที่นี่ได้ เขาก็เริ่มวางใจครับ
เมื่อมันเป็นการเดิมพันครั้งสำคัญของชีวิตขนาดนี้ อะไรเป็นแรงบันดาลใจที่ผลักดันทั้งคู่ให้อยากทำงานนี้
ซิท: หนังที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผมเลยก็คือ Transformers ครับ มันเป็นหนังที่จุดประกายผมและเสริมจินตนาการผมเลยครับ ตอนเด็กๆผมจะรู้สึกว่าตัวเองเห็นภาพในจินตนาการแตกต่างจากเพื่อน ๆ ในวัยเดียวกัน แต่ตอนนั้นผมไม่สามารถอธิบายออกมาเป็นคำพูด หรือวาดออกมาได้ เป็นเด็กพูดน้อยมากๆ แต่ในหัวมันแล่นไปด้วยจินตนาการมากมาย แต่วิชวลเอฟเฟกต์(VFX) สามารถทำได้ ตอนนั้นไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันจะสามารถกลายเป็นอาชีพและสร้างเงินให้ผม
ผมแค่รู้สึกสนุกไปกับมัน ผมเลยเริ่มจากลองถ่ายคลิปเอง เรียนรู้เอง ทำเองไปเรื่อย ๆ พอถึงจุดหนึ่ง ผมก็มองว่าการได้ไปทำงานในต่างประเทศมันเป็นทางที่น่าจะทำให้ผมได้เปิดกว้างทางจินตนาการมากขึ้นอีก ได้เห็นมุมมองของคนที่หลากหลายด้วย และแรงผลักดันอีกอย่างนึงคือการที่ผมสามารถเอาความรู้มาเผยแพร่ให้น้องๆในไทยได้ และมอบโอกาสที่ผมได้รับส่งต่อให้กับเด็กรุ่นต่อๆไปครับ และในอนาคตผมก็อยากกลับมาทำงานที่ไทยครับ
ปลั๊ก: ผมชอบดูหนังมาตั้งแต่เด็กครับ โดยเฉพาะ Star Wars ฉากที่ชอบเลยก็คือ ฉากที่อนาคินพูดกับเพดเม่ว่าไม่ชอบทราย (หัวเราะ) ตอนนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นในเรื่องผมรู้นะครับว่ามันเป็นวิชวลเอฟเฟกต์ แต่ยังไม่รู้ว่าเขาทำกันยังไง ผมชอบมันตั้งแต่สมัยที่พวกเขายังสร้างขึ้นมาด้วยมือ ผมมองว่ามันเป็นงานศิลปะชนิดหนึ่ง เลยตัดสินใจเริ่มจากการเรียนศิลปะก่อน เพิ่งมาเรียนรู้การใช้โปรแกรมด้วยตัวเองทีหลัง แล้วก็เริ่มสมัครงานในสายที่ใกล้เคียงที่สุด เปลี่ยนตัวเองจากนิเทศศิลป์สายอาร์ต มาเป็นงานแอนิเมชั่นก่อน แล้วก็พัฒนาตัวเองไปเรื่อย ๆ ทำไปได้สักพักก็เริ่มตัน เพราะแหล่งความรู้ในไทยมีจำกัด ส่วนตัวผมเองก็ไม่ใช่สายตรงเลยไม่รู้จะถามใคร ไม่รู้จะต่อยอดยังไง เลยตัดสินใจไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ แต่การเรียนศิลปะเองก็มีส่วนช่วยในงานนี้นะครับ เช่น เรื่องสี เรื่องโพสิชั่น รูปร่างของวัตถุ คอมโพสิชั่นต่าง ๆ ทำให้เราเห็นภาพได้ง่ายมากขึ้น
ในตอนนี้เองประเทศไทยก็เริ่มหันมาใส่ใจเรื่องงาน VFX มากขึ้นแล้ว ทั้งสองคนคิดว่างานด้านนี้ในไทยจะสามารถพัฒนาไปได้มากกว่านี้ไหม? ถ้าได้ควรจะต้องทำยังไง?
ปลั๊ก: อาร์ตติสไทยที่เก่ง ๆ มีเยอะมากครับ หลายคนทำงานต่างประเทศมานาน แล้วก็กลับมาอยู่ที่ไทย คนเก่งมันมีอยู่แล้ว และผมเชื่อว่าเราสามารถสร้างหนังให้คุณภาพเทียบเท่ากับระดับสากลได้อย่างแน่นอนครับ แต่ส่วนตัวผมคิดว่าปัญหาส่วนใหญ่ของอุสาหกรรมหนังไทยคือเรื่องทุนครับ เพราะหนังเรื่องหนึ่งต้องใช้ทุนสูงมากถ้าอยากทำให้คุณภาพเทียบเท่ากับระดับสากล
ซิท: งาน VFX ในไทยมันพัฒนาได้แน่นนอนครับ คนไทยมีความสามารถเยอะมาก แต่หลายคนขาดโอกาส อาจเพราะเป็นเรื่องของเวลาและเงินทุน พอเห็นโอกาสในต่างประเทศที่ดีกว่าและสามารถไปได้ เขาไม่ลังเลที่จะออกไปทำงานต่างประเทศ อีกอย่าง เวลาในการทำงานกับเงินทุนก็สอดคล้องกัน อย่างที่พี่ปลั๊กบอกครับว่า ต่างประเทศเขาสามารถเลื่อนเดดไลน์ได้ อาจจะทำได้เพราะว่าเขามีทรัพยากรมากพอที่จะสามารถเข้ามาจ่ายหรือลงเงินเพื่อขยายเวลาทำงาน เพื่อให้พนักงานได้ผลิตผลงานออกมาสวยที่สุด ส่วนตัวผมมองว่าเขาเห็นคุณค่าของงานมาก ถ้ามันยังออกมาไม่ดี เขาก็ไม่อยากปล่อยงานนั้นออกไป
สุดท้ายแล้ว อยากฝากอะไรถึงเด็ก ๆ ที่มีความฝันอยากทำงานให้กับสตูดิโอที่ใหญ่ระดับนานาชาติบ้าง
ซิท: ผมไม่แนะนำให้ดับเครื่องชนเหมือนผมนะครับ ทุกคนควรวางแผนให้ดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาษา หรือค่าใช้จ่าย (หัวเราะ) แต่ถ้ามีโอกาส แล้วรู้เป้าหมายตัวเอง อย่าทิ้งความฝันนั้น วันหนึ่งมันจะสามารถตอบแทนเราได้แน่นอน อย่าคิดว่างานศิลปะมันจะเป็นแค่การโชว์ความสวยงาม มันสามารถสร้างมูลค่าได้ แล้วปัจจุบันนี้ แหล่งความรู้ก็มีให้ศึกษาเยอะมาก เราสามารถศึกษาด้วยตัวเองได้
ถ้ามีหนทาง แล้วสามารถไปได้ก็อยากให้ไปเลย การได้ไปเจอของจริง มันช่วยให้เราพัฒนาได้มากครับ ไม่ใช่แค่เรื่องงาน แต่รวมถึงการใช้ชีวิตทั่วๆไปด้วย แต่ควรมีพื้นฐานที่แข็งแรง เตรียมตัวให้พร้อม ไม่ว่าฝันของน้องๆจะเป็นอะไร ที่สำคัญคือ อย่าทิ้งความฝันครับ น้องๆที่รักในสายงานนี้แต่ที่บ้านอาจจะยังไม่เข้าใจหรือยังไม่สนับสนุน อาจจะต้องพยายามอธิบายนิดนึง ยกตัวอย่างบุคคลหรืออะไรที่เขาสามารถมองเห็นได้ใกล้ตัวมากขึ้น เพราะผู้ใหญ่บางคนเขาอาจจะยังไม่เข้าใจในด้านเทคโนโลยีเหมือนยุคพวกเราครับ
ตอนนี้ผมมาอยู่ในจุดที่สิ่งที่ผมรักมันตอบแทนผมได้ หาเลี้ยงตัวเองและครอบครัว และเติมเต็มจิตใจ ผมอยากให้น้องๆหรือใครก็ตามได้รับความรู้สึกเดียวกันครับ
ปลั๊ก: ทุกคนมีเส้นทางที่แตกต่างกันครับ ผมเคยเป็นเด็กที่มองเห็นรุ่นพี่ที่ออกมาทำงานต่างประเทศ แล้วมีคำถามว่าพี่ๆเขาทำกันอย่างไร แต่ผมก็ได้เข้าใจว่ามันไม่มีรูปแบบที่ตายตัวเลย กับการไปถึงฝันเรา แต่อันนี้จะเป็นความคิดในแนวทางของผมนะครับ
เรื่องแรกที่ผมคิดว่าทุกคนควรมีก็คือ แพชชั่น หาสิ่งที่เรารักให้เจอ ด้านไหนก็ได้ แล้วก็ทำมันอย่างเต็มที่ จงทำงานที่เรารัก แล้วเราจะไม่ต้องทำงานอีกตลอดไป
เรื่องที่สอง คือความหนักแน่น และ จงเชื่อในตัวเอง เพราะระหว่างการเดินทางตามฝันมันไม่มีอะไรสวยหรูเลย มันจะมีแต่ความผิดพลาด ผิดหวัง เสียใจ โดดเดี่ยว และทุกๆครั้งที่ผิดพลาดให้จำไว้ว่านี่คือบันไดอีกขั้นสู่ความสำเร็จ จงโฟกัสกับเป้าหมายของเราให้ชัดเจน แล้วผมเชื่อว่ามันนั้นจะมาถึงเองครับ
เรื่องที่สาม คือ เงิน ครับ อันนี้อยู่ในกรณีเดียวกับผมนะครับคือเรียนต่อต่างประเทศ ถ้ามีฝันแล้วลองต้องวางแผนเรื่องการเงินให้ดีครับ ว่าถ้าเราไปแล้วต้องใช้อะไรเท่าไหร่ถึงจะพอ เพราะผมเชื่อว่าคำถามนี้น่าจะอยู่ในใจเด็กหลายๆคน ผมก็เคยเป็นเด็กคนหนึ่งที่เคยตั้งคำถามนี้ว่าเราจะหาเงินจากที่ไหนไปเรียน
หากงานเขียนบทภาพยนตร์คือการสร้างสรรค์เรื่องราว งานด้าน VFX ก็คือการเนรมิตเหล่าตัวหนังสืออันแสนมหัศจรรย์นั้นให้ออกมาเป็นภาพเคลื่อนไหวได้อย่างสมจริง ธอร์คงไม่สามารถเป็นเทพเจ้าสายฟ้าได้ หากปราศจากสายฟ้า เราคงไม่สามารถเชื่อได้ว่ายานอวกาศในเรื่องสามารถขับเคลื่อนได้จริง ๆ หากมันไม่มีไอพ่น หรือควัน เราคงไม่สามารถตื่นเต้นได้เต็มที่ หากฉากการทำลายข้าวของเกิดขึ้นแค่การแตกโพละของสิ่งของ
เพราะฉะนั้นงานของคุณปลั๊ก และคุณซิท
คือการเนรมิตจินตนาการออกมาให้มีตัวตนจริงในภาพยนตร์
นี่คือหนึ่งในงานด้านศิลปะที่น่าชื่นชม สิ่งที่น่าเสียดายก็คือ งานด้านนี้ในประเทศไทยของเรายังไม่ได้รับการสนับสนุนได้มากเท่าที่ควร บ่อยครั้งบรรดาศิลปินก็ต้องเผชิญหน้ากับความกดดันต่าง ๆ สิ่งที่น่าเสียใจก็คือ บรรดาคำสบประมาทของความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ที่บางครั้งไม่ใช่การติเพื่อก่อให้เกิดสิ่งดี ๆ แทนที่คำแนะนำจะกลายเป็นกำลังใจ มันก็กลายเป็นการบั่นทอนไปเสียแทน
การได้พูดคุยกับทั้งสองท่านวันนี้มันทำให้เราได้เห็นถึงความตั้งใจ ได้เห็นถึง Passion ในการทำงาน และได้รู้ว่าพวกเขาเองก็เป็นคนที่ต้องเดินหน้าไปยังความฝัน พร้อมกับฟันฝ่าอุปสรรคเหมือนพวกเราทุก ๆ คน สิ่งสำคัญก็คือ พวกเขาทำให้เราเชื่อว่า คุณสามารถทำได้ทุกอย่างที่คุณอยากจะทำ เป็นได้ทุกอย่างที่คุณอยากจะเป็น เพียงแค่คุณไม่ทิ้งความฝัน และเชื่อมั่นในตัวเอง ขวนขวาย พยายาม แล้วคว้ามันมาให้ได้