Whiplash — ภายใต้ความหมกหมุ่นและบ้าคลั่ง มีที่ว่างสำหรับคนชั่วช้าที่ขายวิญญาณให้กับดนตรีเสมอ

WHIPLASH — ตีให้ลั่น เพราะฝันยังไม่จบ

106 MIN. — 2014

Damien Chazelle — เดเมียน ชาเซลล์

 

 

***** มีการเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์เรื่อง Whiplash หรือ ตีให้ลั่น เพราะฝันยังไม่จบ *****

หากสังเกตให้ดีแล้ว ในปี 2023 นี้ ก็ถือว่าเป็นปีทองของภาพยนตร์มิวสิคัลในประเทศไทยอยู่เหมือนกัน หลังจากที่ภาพยนตร์ TÁR ของผู้กำกับ ทอดด์ ฟิลด์ ที่พาเอานักแสดงนำหญิงของเรื่องอย่าง เคท บลังเซ็ตต์ เข้าไปมีชื่อลุ้นชนะรางวัลออสการ์ตัวที่สามของเธอ เพิ่งจะเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ ตามหลังภาพยนตร์มิวสิคัลอีกเรื่องของผู้กำกับ เดเมียน ชาเซลล์ อย่าง Babylon ที่บอกเล่าเรื่องราวของประวัติศาตร์วงการภาพยนตร์อเมริกัน ถึงแม้ว่าภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องนี้จะเข้าฉายในต่างประเทศไปแล้วตั้งแต่ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา แต่การที่แฟนภาพยนตร์ชาวไทยได้มีโอกาสรับชมภาพยนตร์สองเรื่อง ที่ถูกเสนอชื่อให้เข้าชิงรางวัลออสการ์รวมกันแล้ว 9 รางวัลนี้ ก็ถือว่าเป็นโชคดีอยู่ไม่น้อย

และเพื่อเป็นการต้อนรับการมาเยือนของ ลิเดีย ทาร์ วันนี้เราจะพาไปย้อนรอยกับภาพยนตร์เรื่องหนึ่งของผู้กำกับ เดเมียน ชาเซลล์ ที่มีฉากหลังคล้ายกันกับภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของ ทอดด์ ฟิลด์ ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับบุคลากรในวงการดนรีที่แม้แต่จะมีนิสัยยํ่าแย่อย่างที่สุด แต่หากมีความสามารถทางดนตรีแล้ว ทุกคนก็ล้วนแต่จะมองข้ามมันไปได้ กับภาพยนตร์ที่มีชื่อว่า Whiplash หรือที่รู้จักกันในชื่อภาษาไทยว่า ตีให้ลั่น เพราะฝันยังไม่จบ

Whiplash เป็นเรื่องราวของ แอนดรูว์ นีย์แมน (ไมล์ส เทลเลอร์) หนุ่มมือกลองวัยสิบเก้าปีที่ใฝ่ฝันจะกลายเป็นยอดมือกลองระดับโลกในวงดนตรีแจ๊ส ซึ่งเขาได้พบกับ เทอเรนซ์ เฟล็ตเชอร์ (เจ. เค. ซิมมอนส์) อาจารย์ผู้เข้มงวดในขณะที่เข้าศึกษาต่อใน วิทยาลัยดนตรีชาฟเฟอร์ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสถาบันดนตรีชั้นนำในสหรัฐอเมริกา ก่อนที่จะพบว่าด้วยความอยากที่จะทำตามความคาดหวังของ เฟล็ตเชอร์ ผู้บ้าคลั่งจะทำให้เขาต้องเสียสละแทบจะทุกอย่างในชีวิตของเขาไป

โดยในตอนแรกเริ่มของภาพยนตร์ เราจะเห็นได้ว่า นีย์แมน ก็เป็นเพียงเด็กวัยรุ่นที่ถือว่ามีพรสวรรค์ทางด้านดนตรี ที่ใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยในแบบที่นักศึกษาปกติทั่วไปทำกัน เขาเข้าเรียนตามปกติ มีความรักกับหญิงสาวสักหนึ่งคน ก่อนที่ทุกอย่างจะเปลี่ยนไปเมื่อเขาได้รู้จักกับ เฟล็ตเชอร์ ที่ชักชวนให้เข้าไปร่วมวงดนตรีแจ๊สที่เขาเป็นคนควบคุมมากขึ้น นีย์แมน ก็เริ่มมองเห็นว่าความคาดหวังของ เฟล็ตเชอร์ สูงมากเพียงใด และด้วยความเชื่อมั่นในพรสวรรค์ของตนเอง เขาจึงพยายามที่ละทิ้งแทบจะทุกอย่างในชีวิตของเขาไป ทั้งการที่นำเอาแฟ้มโน้ตดนตรีของมือกลองคนอื่นในวงไปซ่อน เพื่อที่จะให้ตัวของเขาเองไปอยู่ในสายตาของ เฟล็ตเชอร์ มากขึ้น ทั้งการทิ้งแฟนสาวของตนเองไปเพื่อที่จะนำเวลาไปใช้กับการฝึกซ้อมกลอง รวมไปถึงในช่วงท้ายของภายนตร์ที่เขาประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ ในขณะที่กำลังจะเดินทางไปทำการแสดง แต่ว่าเขาก็ไม่ได้สนใจว่าร่างกายของคู่กรณีหรือตนเองจะเป็นอย่างไร เพราะในความคิดของเขานั้น มีเพียงสิ่งเดียวที่สำคัญคือ การเอาชนะความคาดหวังของ เฟล็ตเชอร์ เท่านั้น

ในขณะเดียวกันชายคนที่ นีย์แมน นับถืออย่าง เฟล็ตเชอร์ ก็ไม่ได้มีคุณสมบัติของอาจารย์ที่ดีเลยแม้แต่นิดเดียว นอกเหนือไปจากความเข้มงวดและความอยากค้นพบขีดความสามารถของนักเรียน เห็นได้จากการที่เขาไล่นักเรียนคนใดก็ตามที่รู้สึกไม่พึงพอใจออกไปจากการซ้อมได้อย่างแทบจะไม่ลังเล, ทั้งการที่มีข่าวลือว่าเขาขว้างฉาบใส่นักเรียนที่เป็นมือกลองคนหนึ่ง จนต้องตกอยู่ในอาการโคม่า และการที่เขาตั้งใจกลั่นแกล้ง นีย์แมน ในตอนท้ายของเรื่อง ด้วยการสั่งใน นีย์แมน ไปฝึกซ้อมเพลงที่ไม่ได้อยู่ในรายชื่อเพลงที่จะนำมาใช้ในการแสดงจริง ทำให้ นีย์แมน ต้องพบกับความอับอายเมื่อเข้าไม่สามารถเล่นให้เข้าจังหวะกับเครื่องดนตรีอื่น ๆ ต่อหน้าผู้ชมจำนวนมากได้เลย

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่แย่จะคล้ายกับว่าจะเป็นการวิจารณ์ในแง่ลบกับภาพยนตร์เรื่องนี้ แต่ที่จริงแล้วตรงกันข้ามเลย เรื่องราวความเลวร้ายที่เป็นเบื้องหลังของวงการดนตรีนี้ถูกถ่ายทอดและวิพากย์วิจารณ์ออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม ทั้งจาก ไมล์ส เทลเลอร์ ในบทของหนุ่มวัยรุ่นผู้ที่ต้องเผชิญกับปัญหาชีวิตรุมเร้ายังแต่ช่วงแรกของชีวิตในมหาวิทยาลัย และที่ยอดเยี่ยมอย่างที่สุด คือ เจ. เค. ซิมมอนส์ ที่เผยรังสีของอาจารย์ผู้เข้มงวดออกมาได้อย่างเต็มเปี่ยม การแสดงอารมณ์ที่ขึงขังอยู่ตลอดเวลา และการตวาดขึ้นเสียงที่เต็มไปด้วยอารมณ์ที่รุนแรงของเขา ได้พาเขาไปได้ไกลถึงรางวัลการชนะรางวัลนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมในเวทีการประกาศรางวัลออสการ์ในปีนั้น และเป็นออสการ์รางวัลเดียวของในอาชีพนักแสดงของงเขามาจนถึงทุกวันนี้

และสิ่งที่จะขาดไปไม่ได้เลย เมื่อพูดถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ คือ หนึ่งในฉากจบที่พูดได้ว่าเป็นหนึ่งในฉากจบที่ทรงพลังที่สุดในวงการภาพยนตร์ ในตอนที่ นีย์แมน ซึ่งถูกกลั่นแกล้งจาก เฟล็ตเชอร์ ในระหว่างที่ทำการแสดงจนต้องเดินลงจากเวทีด้วยความอับอาย ตัดสินใจเดินขึ้นกลับไปบนเวทีอีกครั้งหนึ่งเพื่อเล่นเพลงที่แทบจะไม่มีลูกศิษย์คนไหนของ เฟล็ตเชอร์ ทำได้มาก่อน ซึ่งเป็นการเล่นโดยที่ เฟล็ตเชอร์ ไม่ได้อนุญาตให้เขาเล่นอีกด้วย แต่ด้วยเหตุผลบางประการ ที่อาจจะเป็นอะไรบางอย่างที่มนุษย์สองคนที่หมกหมุ่นจนขายวิญญาณให้กับดนตรีมองเห็นในตัวของกันและกันเท่านั้น เฟล็ตเชอร์ จึงยอมให้ นีย์แมน เป็นคนเล่นเครื่องดนตรีนำของการแสดงนี้ และสิบนาทีหลังจากที่โน้ตแรกในเพลง คาราวาน ของ จอห์น วอชสัน เริ่มดังขึ้น ทุกอย่างหลังจากนั้นก็กลายเป็นเหมือนฝันที่ทั้งสองคนวาดไว้

ฉากจบนี้กลายมาเป็นแนวทางที่ผู้กำกับ เดเมียน ชาเซลล์ นำมาใช้แทบจะทั้งเรื่องในภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของเขา บาบิลอน ด้วยจังหวะการตัดสลับที่รวดเร็ว และการแพนกล้องให้เข้ากับจังหวะดนตรี รวมไปถึงการโคลสอัพให้เห็นเม็ดเหงื่อที่ไหลย้อยออกมาตามส่วนต่าง ๆ ของนักแสดง แต่ในแง่ของการกระตุ้นอารมณ์แล้ว ถือว่ายังห่างชั้นกับฉากจบของภาพยนตร์เรื่องนี้อีกหลายขุม

อย่างไรก็ตาม ภาพยนตร์เรื่องนี้อาจจะไม่ใช่ภาพยนตร์ที่เหมาะสำหรับผู้ชมทุกประเภท เนื่องจากมีการดำเนินเนื้อเรื่องค่อนข้างช้าแทบจะตลอดทั้งเรื่อง เหมือนกับว่าจะนำเอาความเชื่องช้าที่กลายมาเป็นความกดดันและตึงเครียดทั้งหมดในเรื่อง มาระเบิดออกครั้งเดียวในฉากสุดท้าย ซึ่งถ้าผู้ชมคนใดไม่ได้อินไปกับดนตรีที่แอบจะเข้าถึงยากในสังคมไทยอย่างดนตรีแจ๊สมากมายนักแล้วล่ะก็ อาจจะต้องพบกับผิดหวังจากภาพยนตร์เรื่องนี้ทั้งเรื่องไปเลยก็เป็นได้

Comments

comments