Prey — ทางแยกสำคัญของเฟรนไชส์นักล่าแห่งห้วงอวกาศ ที่จะทำให้พวกเขากลับมาแข่งขันกับคู่แข่งตลอดกาลได้อีกครั้ง

PREY

100 MIN. — 2022

Dan Trachtenberg — แดน แทรคเท็นเบิร์ก

 

 

มีเฟรนไชส์ภาพยนตร์ไซไฟ-สยองขวัญ ที่เติบโตขึ้นมาในเวลาไล่เลี่ยกันในช่วงเวลาของยุคปลายยุค ’70s คาบเกี่ยวกับยุค ’80s ไปจนถึงช่วงต้นของยุค ’90s คือ เอเลี่ยน และ พรีเดเตอร์ โดยเฟรนไชส์ที่มาก่อนอย่างเจ้าเอเลี่ยนหัวยาวนั้น มีภาพยนตร์เรื่องแรกเข้าฉายในชื่อว่า Alien (1979) จากฝีมือผู้กำกับ ริดลีย์ สก็อตต์ ตามมาด้วยภาคต่อ Aliens (1986) ฝีมือผู้กำกับ เจมส์ คาเมร่อน และภาคที่สามอย่าง Alien³ (1992) ฝืมือของผู้กำกับ เดวิด ฟินเชอร์ ซึ่งถือว่าไตรภาคแรกของเฟรนไชส์นี้ ได้อยู่ในมือของผู้กำกับยอดฝีมือทั้งสิ้น

ส่วนเฟรนไชส์พรานอวกาศก็ได้ฤกษ์เริ่มต้นขึ้นหลังจากภาคที่สองของเฟรนไชส์ผู้มาก่อนได้เข้าฉายไปแล้วประมาณหนึ่งปี กับภาพยนตร์ Predator (1987) ที่เป็นการร่วมงานกันของนักแสดงจอมบู๊ตลอดกาล อาร์โนลด์ ชวาร์เซเน็กเกอร์ กับผู้กำกับภาพยนตร์แอคชั่นมือทอง จอห์น แม็คเทียร์แนน ผู้ฝากผลงานไว้กับภาพยนตร์แอคชั่นคืนวันคริสต์มาสต์ในตำนานอย่าง Die Hard (1988)

โดยภาพยนตร์ทั้งสองเฟรนไชส์ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากทางด้านการเงินแตกแขนงออกมาเป็นเกมและภาพยนตร์ภาคต่อตามออกมามากมาย โดยฝั่งผู้มาก่อน ประกอบไปด้วย Alien Resurrection (1997), Prometheus (2012), Alien: Covenant (2017) และภาพยนตร์ภาคต่อและภาคแยกที่ยังไม่ปรากฏชื่ออีกสองเรื่อง รวมไปถึงการโคจรมาปะทะกันใน Alien vs. Predator (2004) และ Aliens vs. Predator: Requiem (2007) ส่วนทางฝั่งผู้มาทีหลัง ประกอบไปด้วย Predator 2 (1990), Predators (2010), The Predator (2018) และล่าสุดกับ Prey (2022) ซึ่งแหกขนบของภาพยนตร์ด้วยการลงฉายเฉพาะในสตรีมมิ่งเท่านั้น รวมไปถึงแหกขนบของภาพยนตร์พรีเดเตอร์ทุกภาคก่อนหน้านี้ที่จะมีความยาว 107 นาทีทุกเรื่อง ด้วยความยาวที่ 100 นาทีพอดีเป๊ะ

ก่อนอื่นต้องขอพูดถึงความแตกต่างของทั้งสองเฟรนไชส์นี้ที่ถึงแม้จะเป็นแนวไซไฟ-สยองขวัญเหมือนกัน แต่ว่าจุดเด่นกลับแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยผู้มาก่อนอย่าง เอเลี่ยน นั้นจะเน้นไปที่ความสยองขวัญจากการถูกล่าโดยนักล่าที่คล้ายจะเป็นสัตว์ป่าที่ต้องการจะใช้ร่างของพวกเขาในการขยายพันธ์ุ ผ่านทางมุมมองของตัวละครหญิง ซึ่งจะตามมาด้วยบรรยากาศของความไม่น่าไว้วางใจจากทั้งการถูกล่าและการรับมือกับเพื่อนร่วมการเดินทางที่สติแตกด้วยความกลัว อีกจุดเด่นหนึ่งคือบรรยากาศของความกดดันที่เกิดจากการที่จะต้องหนีเอาตัวรอดในสถานที่แคบ ๆ ที่มักจะเป็นยานท่องอวกาศ

ส่วนผู้มาทีหลังอย่าง พรีเดเตอร์ จะเน้นไปที่ฉากแอคชั่นของเหล่าตัวละครชายที่มักจะเป็นทหารหรือในแง่หนึ่งคือ เป็นนักล่าที่กลายมาเป็นผู้ถูกล่า ที่พยายามต่อสู้กับผู้ล่าที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีลํ้ายุค ซึ่งมีเป้าหมายเพียงอย่างเดียวคือการล่าเพื่อความรุ่งโรจน์ ด้วยการแสดงความแข็งแกร่งของตนเองผ่านทางการเก็บสะสมหัวกระโหลกและกระดูกสันหลังของเหยื่อที่ล่าได้ โดยมักจะมีฉากหลังเป็นสถานที่ต่าง ๆ บนดาวโลก โดยเฉพาะในป่า

ซึ่งเฟรนไชส์นักล่าเทคโนโลยีลํ้ายุคนี้ถูกวิจารณ์หนักขึ้นเรื่อย ๆ นับตั้งแต่ภาพยนตร์ในภาคที่สองเป็นต้นมา จนถึงภาคของปี 2018 ว่าเต็มไปด้วยความซํ้าซากของฉากแอคชั่น ทั้งยังมีเนื้อเรื่องที่ตกยุคสุด ๆ สวนทางกับเฟรนไชส์ภาพยนตร์สัตว์นักล่าที่ยังคงความสยองขวัญในเนื้อเรื่องที่พยายามจะเปลี่ยนแปลงไปเป็นแนวทางของความสยองขวัญในแบบไซไฟที่แฝงไปด้วยปริศนาและประเด็นทางปรัชญา เมื่อกลับมาอยู่ในมือของต้นฉบับผู้สร้างอย่าง ริดลีย์ สก็อตต์ ในปี 2012

จนเมื่อภาพยนตร์พลิกเกมอย่าง Prey เข้าฉายเมื่อช่วงปีที่ผ่านมา โดยมีฉากหลังเป็นชาวพื้นเมืองอเมริกัน ผู้ที่ผูกโยงการล่าเข้ากับเกียรติยศและการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เมื่อพวกเขาต้องมาถูกล่าโดยสิ่งมีชีวิตผู้มีความคิดในแบบเดียวกับพวกเขา คือ การล่าเพื่อเกียรติยศและความรุ่งโรจน์ อีกทั้งยังเปลี่ยนแปลงตัวเอกมาเป็นผู้หญิงเช่นเดียวกับเฟรนไชส์ เอเลี่ยน บ้าง เพื่อสร้างบรรยากาศและประเด็นใหม่ ๆ

ซึ่งนักแสดงนำหญิงที่จะมารับบทนำคนดังกล่าว คือ แอมเบอร์ มิดธันเดอร์ นักแสดงสาวผู้มีแม่เป็นชาวไทยเชื้อสายจีน ที่เคยฝากผลงานไว้ในภาพยนตร์อาชญากรรม-ดราม่า อย่าง Hell or High Water (2016) และซีรีส์ซูเปอร์ฮีโร่ที่สร้าวมาจากหนังสือการ์ตูนของมาร์เวล อย่าง Legion (2017-2019) ซึ่งพลังการแสดงของเธอใน Prey ทั้งฉากแอคชั่นและดราม่า ก็ถือว่าแบกภาพยนตร์เอาไว้ได้อย่างอยู่หมัด ถึงขนาดนี้แม้ว่าทั้งเรื่องแทบจะโฟกัสอยู่ที่ตัวละครของเธอเพียงตัวเดียว จนตัวละครอื่นในเรื่องแทบจะไร้ซึ่งมิติและหมดความน่าสนใจไป แต่เสน่ห์ของเธอก็ยังดึงดูดเราไว้ให้จดจ่ออยู่กับภาพยนตร์ไว้ได้ ประกอบกับการสร้างความสมดุลระหว่างฉากแอคชั่นและประเด็นดราม่าที่แตกต่างออกไปจากภาคก่อน ๆ ทำให้ภาพยนตร์ไม่ได้แข็งทื่ออย่างที่เคยเป็นมาก่อนหน้านี้

ในส่วนของงานภาพและการถ่ายทำก็ถือว่าน่าประทับใจเป็นอย่างมาก ทั้งความสวยงามของบรรยากาศในพื้นที่ที่เป็นป่าเขาในพื้นที่ของเมืองโคแมนชี่ รัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกาในอดีด ที่ยังไม่ถูกทำลายด้วยนํ้ามือมนุษย์ และแสงสีในฉากแอคชั่นที่ยอดเยี่ยม ต้องขอบคุณผู้กำกับภาพของเรื่องอย่าง เจฟฟ์ คัตเตอร์ ที่เคยสร้างประสบการณ์เขย่าขวัญร่วมกับผู้กำกับคนเดียวกันนี้ใน 10 Cloverfield Lane (2016)

ตัวภาพยนตร์ยังแฝงไปด้วยประเด็นทางสังคมได้อย่างแนบเนียน ทั้งประเด็นของการล่าอาณานิคมของชาติอาณานิคมจากยุโรปที่เข้ามารุกรานทวีปอเมริกาเหนือ ที่มองว่าสิ่งมีชีวิตชนิดต่าง ๆ ต้อยตํ่ากว่าตนเอง จนอยากที่จะจับมาเลี้ยงไว้เป็นสัตว์เลี้ยง หรือจับมาทำการศึกษาก็ตาม รวมไปถึงประเด็นของเฟมินิสต์หรือแนวคิดสตรีนิยมที่กำลังเติบโตในช่วงเวลาร่วมสมัยนี้ ผ่านทางการที่ตัวละครหลักของเรื่องที่เป็นผู้หญิง ถูกด้อยค่าในชุมชนของชาวอินเดียนแดงที่อยู่ภายใต้กรอบความคิดแบบชายเป็นใหญ่ จนไม่เชื่อว่าตัวเอกของเราจะมีทักษะในการล่าและความแข็งแกร่งเทียบเท่ากับผู้ชาย และความเชื่อเช่นนี้จะนำไปสู่เหตุการณ์อันเลวร้ายที่จะเกิดขึ้นในเรื่อง

ถึงแม้จะไม่มีตัวเลขเรื่องรายได้ออกมาเป็นเครื่องยืนยันความสำเร็จของตัวภาพยนตร์ เนื่องจากข้อจำกัดที่ตัวภาพยนตร์ไม่ได้ถูกนำไปฉายตามโรงภาพยนตร์ต่าง ๆ แต่ว่าผลตอบรับที่ดีจากนักวิจารณ์และผู้ชมจำนวนมาก ก็ทำให้มีข่าวลือออกมาว่า การต่อสู้ระหว่างสองชนเผ่านักล่านี้จะได้สานต่อเรื่องราวต่อไปในภาคที่สอง

โดยหากใครที่สนใจรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ สามารถรับชมได้ในช่องทางของ Disney+ Hotstar Thailand

Comments

comments

Share

3 Pings & Trackbacks

  1. Pingback: ซิเดกร้า

  2. Pingback: ย่างบนเตา

  3. Pingback: ทรัสเบท