Decision to Leave — ฆาตกรรมรักหนังเอเชีย

DECISIONS TO LEAVE — ฆาตกรรมรักหลังเขา

139 MIN. — 2022

Park Chan-wook — พัคชานอุค

 

 

หลายคนอาจจะเห็นว่าในปีนี้ นักแสดงจากทางฝั่งเอเชียได้เข้าไปมีที่ยืนบนเวทีประกาศรางวัลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดประจำปีของวงการภาพยนตร์อย่างเวทีออสการ์ก็อย่างล้นหลาม โดยเฉพาะจากภาพยนตร์เรื่อง “Everything Everywhere All at Once” หรือ “ซือเจ๊ ทะลุมัลติเวิร์ส” ที่ถูกเสนอเข้าชิงรางวัลในเวทีนี้ถึง 11 สาขา โดยนักแสดงนำอย่าง “มิเชล โหย่ว” ได้ถูกเสนอชื่อให้เข้าชิงรางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม เป็นครั้งแรกในช่วงเวลา 40 กว่าปี ในอาชีพนักแสดงของเธอ เช่นเดียวกันกับ “คี ฮุย ควาน” ที่ห่างหายจากวงการภาพยนตร์ไปกว่า 20 ปี ก็ถูกเสนอเข้าชิงรางวัลนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม  รวมไปถึงนักแสดงสาวดาวรุ่งจากทางฝั่งเอเชียอย่าง “สเตฟานี ซู” ก็ได้ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลนักแสดงสมทหญิงยอดเยี่ยม รวมกับนักแสดงมากประสบการณ์ที่อยู่ในฮอลลีวูดมากอย่างยาวนานอย่าง “เจมี ลี เคอร์ติส”

แต่สิ่งที่เสียดายเป็นการส่วนตัวมากที่สุด คือ การที่ความสำเร็จของ ซือเจ๊ ทะลุมัลติเวิร์ส กำลังบดบังการถูกฆาตกรรมของหนึ่งในภาพยนตร์ที่พื้นเพมาจากทางฝั่งเอเชียอย่างเต็มตัวอย่าง Decision to Leave หรือ ฆาตกรรมรักหลังเขา ของผู้กำกับมากฝืมือชาวเกาหลี อย่าง พัคชานอุค ผู้เคยมีผลงานภาพยนตร์หลายเรื่องที่อัดแน่นไปด้วยประเด็นฉาวโฉ่และหมิ่นเหม่ในทางศีลธรรมทั้ง Oldboy (2003), Thirst (2009) และ The Handmaiden (2016)

ฆาตกรรมรักหลังเขา เป็นเรื่องราวของนักสืบคนหนึ่งที่รับบทโดยนักแสดงชาวเกาหลี พัคแฮอิล ที่ต้องมาสืบสวนการเสียชีวิตของชายชาวเกาหลีคนหนึ่งที่มีภรรยาเป็นชาวจีน โดยภรรยาคนดังกล่าวนี้รับบทโดยนักแสดงเชื้อสายจีน ถังเหว่ย ก่อนที่การพบกันของทั้งสองจะพัฒนากลายมาเป็นเหมือนกับดักแห่งความสัมพันธ์ที่เต็มไปด้วยความปราถนา

โดยเรื่องราวโดยรวมของตัวภาพยนตร์ก็จะมีแก่นคล้ายกับภาพยนตร์เรื่องก่อน ๆ ของผู้กำกับ พัคชานอุค คือ เรื่องราวของความปราถนาในความสัมพันธ์ต้องห้ามที่แฝงไปด้วยความรุนแรง แต่สิ่งที่พิเศษกว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ คือ การถ่ายทอดเรื่องราวของแรงปราถนาออกมาได้โดยที่ไม่ต้องเกิดความสัมพันธ์อย่างเซ็กซ์ขึ้น แต่ความปราถนาเหล่านั้นถูกส่งผ่านมาออกมาทางนํ้าเสียง ถูกส่งผ่านออกมาทางสายตา ถูกส่งผ่านออกมาทางการสัมผัสเพียงแค่ปลายนิ้วมือ แต่กลับชวนให้ลุ่มหลงมากเสียยิ่งกว่าตอนที่นักแสดงนำฝ่ายหญิงอย่าง ถังเหว่ย เปลือยกายร่วมรักกับ เหลียงเฉาเหว่ย อย่างฉาวโฉ่ในภาพยนตร์ Lust, Caution (2007) จนทำให้เธอถูกแบนจากวงการภาพยนตร์ในจีนแผนดินใหญ่เสียอีก

อีกทั้งภาพยนตร์ยังแอบแฝงไปด้วยประเด็นทางสังคมอันแยบคาย ทั้งประเด็นของการเป็นคนชายขอบของฝ่ายหญิงที่เป็นสะใภ้อพยพจากจีน โดยเธอที่ยังพูดภาษาเกาหลีได้ไม่เชี่ยวชาญเท่าใดนัก กลับต้องมาให้การกับตำรวจในเรื่องที่ซับซ้อนอย่างการคดีการฆาตกรรม นอกเหนือไปจากนั้นมีประเด็นของสถาบันครอบครัวในประเทศเกาหลี ที่ถูกยึดครองด้วยความบ้าคลั่งในสภาวะชายเป็นใหญ่

อีกหนึ่งเรื่องที่จะไม่พูดถึงเลยไม่ได้ คือ ความยอดเยี่ยมของการออกแบบฉากและการถ่ายทำภาพยนตร์ในเรื่องนี้ ที่ทั้งสวยงามและใช้เทคนิคที่หลากหลายอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในภาพยนตร์ฮอลลีวูดยุคใหม่ ทั้งการใช้ภาพสะท้อน, การหมุนมุมกล้องอย่างต่อเนื่อง, การใช้มุมมองแบบตาปลา และเทคนิคอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งถือว่าเป็นการพัฒนาฝีมือไปอีกระดับหนึ่งของผู้กำกับชาวเกาหลีวัย 59 ปี

ถ้าหากจะให้ทัศนะโดยตรงแล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้ควรจะเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ดีที่สุดของปีที่แล้วด้วยซํ้า

แต่ด้วยเหตุผลอะไรก็ตามซึ่งพวกเราเองก็ไม่อาจทราบได้ ภาพยนตร์ที่ถูกเสนอให้เข้าชิงรางวัลแบฟต้า ในสาขาภาพยนตร์ที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษและสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมนี้ กลับไม่ได้ถูกเสนอชื่อให้เข้าชิงรางวัลในเวทีออสการ์แม้แต่รางวัลเดียว ทั้งที่อย่างน้อยก็ควรจะถูกเข้าชิงรางวัลในรางวัลภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม หรือถ้าหากจะให้พูดอย่างจริงใจมากกว่านั้น นักแสดงนำฝ่ายหญิงอย่าง ถังเหว่ย ควรจะได้เป็นหนึ่งในผู้เข้าชิงรางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมด้วยซํ้า รวมไปถึงผู้กำกับภาพอย่าง คิมจิยอง และผู้กำกับ พัคชานอุค ก็ควรจะได้เข้าชิงในสาขาการกำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและผู้กำกับยอดเยี่ยมตามลำดับด้วย

หรือจะให้สุดโต่งไปกว่านั้น ภาพยนตร์เรื่องนี้ควรจะเป็นหนึ่งในตัวเต็งในกลุ่มของผู้เข้าชิงรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมเสียด้วยซํ้า

แต่ก็น่าเสียดายที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ ที่อาจจะเป็นภาพยนตร์จากทางฝั่งเอเชียที่ยอดเยี่ยมที่สุดในรอบทศวรรษ กลับไม่ได้มีโอกาสแม้กระทั่งจะไปยืนอยู่บนเวทีเดียวกันกับ ภาพยนตร์เรื่อง “Parasite” หรือ “ครอบครัวปรสิต” ของผู้กำกับ “บงจุนโฮ” ที่ถูกเสนอชื่อให้เข้าชิงถึง 6 รางวัล และคว้าไปครองได้ถึง 4 รางวัล

Comments

comments