The Social Network — เดอะโซเชียลเน็ตเวิร์ก
120 MIN. — 2010
David Fincher — เดวิด ฟินเชอร์
หลังจากเปลี่ยนแนวไปกำกับภาพยนตร์ดราม่า-โรแมนติกที่แอบแฝงไปด้วยกลิ่นอายของความแฟนตาซี อย่าง The Curious Case of Benjamin Button (2008) หรือ เบนจามิน บัตตัน อัศจรรย์ฅนโลกไม่เคยรู้ ที่กวาดรางวัลบนเวทีออสการ์ไปถึงสามสาขา ผู้กำกับ เดวิด ฟินเชอร์ ก็ได้แสดงความสามารถในการกำกับภาพยนตร์หลากหลายแนวของเขาให้ผู้ชมได้เห็นอีกครั้งใน The Social Network (2010) หรือ เดอะโซเชียลเน็ตเวิร์ก ภาพยนตร์ดราม่าเชิงชีวประวัติของ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ชายผู้เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง เฟสบุ๊ค สื่อสังคมออนไลน์ที่มีผู้ใช้งานมาเป็นอันดันต้น ๆ ของโลก ที่ปัจจุบันนี้เขาก็ยังคงทำหน้าที่เป็นประธานกรรมการบริหารของบริษัทอยู่ด้วย
โดย เดอะโซเชียลเน็ตเวิร์ก เป็นภาพยนตร์ที่ถือว่ามีกลิ่นอายที่แปลกใหม่ที่สุดแล้วในหมู่ภาพยนตร์ทั้งหมดของ ฟินเชอร์ จนถึงยุคปัจจุบันนี้ เพราะว่ามันไม่ได้ถูกเติมเต็มด้วยเรื่องราวของการฆาตกรรม หรือแม้กระทั่งความรุนแรง ตามแบบฉบับของเขา แต่มันกลับขับเคลื่อนเรื่องราวด้วยบทสนทนา ระหว่างชายแปลกแยกผู้ที่เต็มไปด้วยความทะเยอทะยานกับผู้คนรอบตัวของเขา
ภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอว่าบทสนทนาจะเป็นแกนกลางของการขับเคลื่อนเรื่องราวตั้งแต่ในฉากเปิด ซึ่งเป็นฉากที่ ซักเคอร์เบิร์ก ที่รับบทโดย เจสซี่ ไอเซนเบิร์ก กำลังนั่งพูดคุยอยู่ในบาร์กับ เอริก้า อัลไบรท์ ที่รับบทโดย รูนีย์ มาร่า ซึ่งฉากนี้เป็นฉากที่มีเพียงแต่บทสนทนาล้วน ๆ ต่อเนื่องยาวนานกว่าห้านาที โดยไม่มีการเปลี่ยนสถานที่ ซึ่งจะเป็นฉากที่ทำให้เราได้เข้าใจถึงลักษณะที่นิสัยอันแปลกประหลาดของ ซักเคอร์เบิร์ก ซึ่งเป็นความแปลกแยกที่มีความโกรธเกรี้ยวหงุดหงิดอยู่ภายใน ที่ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านทางวิธีการพูดเร็วเป็นไฟแล่บของเขา โดยมีเรื่องเล่ากันว่าเฉพาะฉากเปิดฉากนี้ฉากเดียว ฟินเชอร์ ถ่ายทำไปมากกว่า 100 เทค เพื่อให้มันถ่ายถอดความประทับใจแรกออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุด
ถึงแม้ภาพยนตร์เรื่องนี้จะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตในช่วงมหาวิทยาลัย แต่ก็เป็นช่วงชีวิตในมหาวิทยาลัยที่ให้อารมณ์แตกต่างออกไปจากภาพยนตร์เรื่องอื่น เพราะว่าเรื่องราวทั้งหมดเกี่ยวข้องกับความโลภหรือความทะเยอทะยาน ที่จะนำไปสู่การหักหลังและแก่งแย่งความดีความชอบกัน จนถึงขั้นต้องมีการฟ้องร้องกันในชั้นศาล จนทำให้มันตึงเครียดมันและแทบไม่มีการบอกเล่าด้านของความสดใสในช่วงชีวิตมหาวิทยาลัยเลย ซึ่งก็ถือเป็นสิ่งที่ ฟินเชอร์ ตัดสินใจที่ดัดแปลงแนวทางนี้ออกมาจากภาพยนตร์เรื่องอื่นของเขา ที่เน้นไปที่ความตึงเครียดจากการสืบสวนสอบสวน ด้วยการลดทอดความรุนแรงทางด้านกายภาพออกไปแทน
ด้วยการที่มันเป็นภาพนตร์ที่ขับเคลื่อนด้วยบทสนทนา ทำให้ต้องพึ่งพาความสามารถในกของนักแสดงในการถ่ายทอดอารมณ์ออกมาแทบจะเพียงอย่างเดียว ซึ่งก็ถือว่านักแสดงหลักทุกคนในเรื่องทำหน้าที่ของตนเองได้เป็นอย่างดี ทั้ง ไอเซนเบิร์ก และ มาร่า ที่เราได้เห็นกันไปตั้งแต่ในฉากเปิดเรื่อง ร่วมกับ อาร์มี่ แฮมเมอร์ ในบทบาทของฝาแฝด วิงเคลวอสส์ ที่เป็นผู้ร่วมคิดค้น เฟสบุ๊ค ขึ้นมาร่วมกับ ซักเคอร์เบิร์ก ก่อนที่จะถูกแย่งเอาความดีความชอบไปเกือบจะทั้งหมด รวมไปถึง แอนดรูว์ การ์ฟิลด์ ในบทบาทของ เอดูอาโด ซาเวอริน และ จัสติน ทิมเบอร์เลค ในบทบาทของ ฌอน พาร์กเกอร์ สองนักธุรกิจที่จะเข้ามามีบทบาทกับทิศทางของเฟสบุ๊คในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ตกเป็นข้อถกเถียงในเรื่องความถูกต้องอยู่พอสมควร เนื่องจากมันเป็นภาพยนตร์ที่ดัดแปลงมาจากหนังสือที่มีชื่อว่า The Accidental Billionaires: The Founding of Facebook, a Tale of Sex, Money, Genius, and Betrayal ของนักเขียนผู้มีชื่อว่า เบน เมซริช ซึ่งแม้จะถูกอ้างว่าเป็นงานเขียนที่เป็นเรื่องจริง เนื่องจากเขาได้ทำการศึกษาเอกสารในชั้นศาลและได้รับการให้คำปรึกษาจาก เอดูอาโด ซาเวอริน แต่ก็ไม่มีใครออกมายืนยันความถูกต้องของเรื่องราวนี้ เนื่องจากก่อนที่หนังสือเล่มนี้จะตีพิมพ์ ซาเวอริน ได้ยุติข้อพิพาทในชั้นศาลกับ ซักเคอร์เบิร์ก แลกกับเงื่อนไขที่จะไม่พูดถึงเรื่องราวดังกล่าวในพื้นที่สาธารณะอีก
เดอะโซเชียลเน็ตเวิร์ก ได้ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ถึงแปดสาขา โดยชนะรางวัลมาได้ทั้งหมดสามสาขา ได้แก่
สาขาบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม ของ แอรอน ซอร์กิ้น, สาขาการตัดต่อภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ของ เคิร์ก แบ็กซ์เตอร์ และ แองกัส วอลล์ รวมไปถึงสาขาดนตรีประกอบยอดเยี่ยม ฝีมือคู่หูนักดนตรีจากวง Nine Inch Nails อย่าง เทรนต์ เรซเนอร์ และ แอตทิคัส รอสส์ ซึ่งภายหลังทั้งสองจะกลายมาเป็นนักประพันธ์คู่ใจของ ฟินเชอร์ ที่โด่งดังไปไกลจนได้รับรางวัลจากการประพันธ์ดนตรีให้ภาพยนตร์และซีรีส์อีกหลายเรื่อง