Se7en — เจ็ดข้อต้องฆ่า
127 MIN. — 1995
David Fincher — เดวิด ฟินเชอร์
เดวิด ฟินเชอร์ ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้กำกับที่หลงไหลในเรื่องราวของอาชญกรรมและการสืบสวนสอบสวน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นของการตามหาตัวฆาตกรต่อเนื่อง อย่างที่หลายคนอาจจะเคยรับชมกันมาแล้วในซีรีส์ของเน็ตฟลิกซ์อย่าง Mindhunter (2017-2019) หรือ มายด์ฮันเตอร์ หรือภาพยนตร์ Zodiac (2007) หรือ ตามล่า รหัสฆ่า ฆาตกรอำมหิต ที่เป็นการจับคู่นักแสดงชายชั้นนำของฮอลลีวูดอย่าง เจค จิลเลนฮาล และ โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์ ในภารกิจตามหาฆาตกรจักรราศีที่เป็นคดีซึ่งโด่งดังไปทั่วโลก
และหากเรามองย้อนกลับไปยังผลงานในอดีตของผู้กำกับชาวอเมริกันคนนี้ตั้งแต่แรกเริ่ม ภาพยนตร์ที่ถือว่าสร้างชื่อเสียงให้กับเขา ก็เป็นภาพยนตร์เกี่ยวกับการสืบสวนเรื่องราวของฆาตกรต่อเนื่อง ที่ใช้บาปเจ็ดประการเป็นแรงจูงใจในการสังหารเหยื่อ โดยภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวมีชื่อว่า Se7en (1995) หรือ เจ็ดข้อต้องฆ่า ที่ได้นักแสดงหนุ่มดาวรุ่งในตอนนั้นอย่าง แบรด พิตต์ มานำแสดงร่วมกับตำนานนักแสดงอีกคนหนึ่งอย่าง มอร์แกน ฟรีแมน โดยภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นผลงานการกำกับภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องที่สองของ ฟินเชอร์ หลังจากภาพยนตร์เรื่องแรกของเขา คือการได้รับมอบหมายให้สานต่อตำนานซีโนมอร์ฟของ เจมส์ คาเมร่อน ใน Alien³ (1992) หรือ เอเลี่ยน 3 อสูรสยบจักรวาล
สิ่งที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้แตกต่างออกไปจากภาพยนตร์สืบสวนสอบคดีอาชญกรรมเรื่องอื่น คือการที่มันมุ่งเน้นไปที่การสร้างมิติของตัวละครที่อื่นที่ไม่ใช่ฆาตกร ว่าพวกเขาและเธอดำเนินชีวิตประจำวันในฐานะคนปกติธรรมดาในสังคมที่เต็มไปด้วยอาชญากรรมอย่างไร รวมไปถึงความสัมพันธ์ของแต่ละตัวละครที่มีความคิดแตกต่างกันสุดขั้ว แต่ก็ต้องพยายามประนีประนอมและมอบความหวังดีให้แก่กัน เพื่อที่จะมีชีวิตอยู่หรือทำงานร่วมกันให้ได้ คล้ายกับว่ามันเป็นภาพยนตร์เกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่แฝงอยู่ในคราบของภาพยนตร์สืบสวนสอบสวน ซึ่งเต็มไปด้วยฉากของการฆาตกรรมสุดโหดเหี้ยม
ในขณะที่ตัวฆาตกรเป็นเหมือนบุคคลลึกลับที่แทบจะไม่มีทางหาตัวเจอ ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ปฏิบัติคล้ายกับว่าเราในฐานะผู้ชม ก็เป็นเหมือนเพียงแค่คนธรรมดาที่มองเห็นเรื่องราวสยดสยองเหล่านี้ผ่านหน้าจอมือถือหรือไม่ก็จากหน้าจอโทรทัศน์ และกำลังคิดว่าเรื่องราวเหล่านี้มันอยู่ไกลห่างจากตัวเราเหลือเกิน โดยไม่ทันระวังตัวเลยว่าในสภาพสังคมเช่นนี้ ความบ้าคลั่งและหมกมุ่นของผู้คนมันเป็นอันตรายได้มากกว่าที่คิด ทั้งในทางร่างกายและจิตใจ
ในแง่หนึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้เปรียบเสมือนกระจกสะท้อนผลของการอาศัยอยู่ในสังคมที่เสื่อมโทรม ที่ส่งผลกระทบทำให้จิตใจของคนหน้าเก่าที่ถือเป็นคนส่วนใหญ่ในสังคม ให้เริ่มด้านช้าและรู้สึกว่างานที่ตนเองทำมาตลอดชีวิตมันแทบจะไร้ซึ่งความหมาย และการที่คนหน้าใหม่ที่ไม่ว่าจะมีไฟแรงหรือยึดมั่นในอุดมการณ์มากเพียงใด ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมที่ติดอยู่ในทางตันนี้ได้แม้แต่เสี้ยวหนึ่งเลย แต่ในทางกลับกัน ชายอีกหนึ่งคนที่ก็เกิดขึ้นมาจากสังคมผุพังเดียวกันนี้ ก็ได้กลายมาเป็นฆาตกรต่อเนื่องที่ไร้ซึ่งความปราณีต่อเหยื่อ และก้าวเดินไปในเส้นทางที่ตนเองต้องการได้ง่ายดาย เหมือนกับได้รับการประทานพรจากพระผู้เป็นเจ้า
และทุกอย่างก็กลับกลายมาเป็นวงจรอุบาทว์ เมื่อสังคมที่เต็มไปด้วยความเสื่อมโทรมและอาชญากรรม ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐไม่เห็นถึงคุณค่าในงานของตนเอง และเริ่มหละหลวมในการทำปฏิบัติของตนเอง เหล่าอาชญากรก็เริ่มสร้างความหวาดกลัวในสังคม จนให้บางคนที่เห็นว่าสังคมนี้ต้องการเครื่องยํ้าเตือนถึงศีลธรรมเริ่มตั้งตัวขึ้นมาเป็นศาลเตี้ย และยิ่งทำให้สังคมตกตำ่ลงไปอีกที่ไม่มีที่สิ้นสุด
เจ็ดข้อต้องฆ่า ได้ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ในสาขาการตัดต่อภาพยนตร์ในปีนั้น ถึงแม้ภาพยนตร์เรื่องนี้จะไม่ชนะรางวัลดังในสาขากล่าว แต่ตัวของมันเองก็ได้กลายมาเป็นแบบอย่างที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อภาพยนตร์สืบสวนสอบสวนในยุคต่อมา ทั้งในเรื่องของการผลิกผันของเรื่องราว รวมไปถึงการแสดงภาพที่โหดร้ายผู้ตกเป็นเหยื่อของการฆาตกรรม ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังกลายเป็นบันไดขั้นสำคัญของทั้งนักแสดงนำอย่าง พิตต์ ให้ได้แสดงฝีมือการแสดงในบทบาทที่ซับซ้อนมากขึ้นกว่าแต่ก่อน และผู้กำกับอย่าง ฟินเชอร์ ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในผู้กำกับที่สร้างภาพยนตร์เขย่าขวัญได้ออกมายอดเยี่ยมที่สุดคนหนึ่งในฮอลลีวูด