Creed III — ผลงานการกำกับครั้งแรกที่ยังหนีไม่พ้นกับดักหนังสูตร แต่ก็ทำฉากแอคชั่นออกมาได้เดือดดาลเหนือความคาดหมาย

CREED III — ครี้ด III

116 MIN. — 2023

Michael B. Jordan —ไมเคิล บี. จอร์แดน

 

 

***** มีการเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์เรื่อง Creed III หรือ ครี้ด III *****

ตำนานยอดสังเวียนมวยกลับมาอีกครั้ง โดยในครั้งนี้ถือการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญของทั้งเฟรนไชส์ ร็อคกี้ และ ครี้ด เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงตัวผู้กำกับจาก สตีเวน เคเปิล จูเนียร์ มาเป็นนักแสดงนำผู้รับบทนำ อย่าง ไมเคิล บี. จอร์แดน ที่จะทำหน้าที่กำกับภาพยนตร์อย่างเต็มตัวเป็นเรื่องแรกของเขา รวมกับผู้กำกับภาพยนตร์ภาคแรก อย่าง ไรอัน คูกเลอร์ ที่ผันตัวมาช่วยเหลือในด้านบทภาพยนตร์ และอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญ คือ ก้าวใหม่ของจักรวาลสังเวียนมวยในครั้งนี้จะปล่อยมือจากมรดกที่ ร็อคกี้ ทิ้งเอาไว้ ด้วยการตัดเอาบทบาทของ ร็อคกี้ บัลบัว (ซิลเวสเตอร์ สตอลโลน) ออกไป

โดยเรื่องราวโดยย่อของภาพยนตร์เรื่องนี้ จะเกี่ยวข้องกับ อโดนิส ครี้ด ที่แขวนนวมในฐานะแชมป์โลกและผันตัวมาเป็นโปรโมเตอร์ รวมถึงเจ้าของยิมที่คอยจะปั้นนักชกรุ่นใหม่แทน ในขณะที่ชีวิตของเขากำลังไปได้สวย ทั้งด้านครอบครัวในฐานะพ่อ และในด้านอาชีพในฐานะนักธุรกิจดเมี่ยน แอนเดอร์สัน (โจนาธาน เมเจอร์ส) เงามืดจากอดีตเมื่อสิบแปดปีก่อนก็ตามมาหลอกหลอนเขา ในฐานะชายผู้ที่ในอดีดเป็นดั่งครอบครัวของเขา แต่ทว่าในครั้ง นี้เขาจะมาทวงคืนชีวิตและทุกอย่างที่เขาถูกแย่งชิงไป

นอกเหนือไปจากการกลับมาของเงามืดในอดีตของ อโดนิส นั้น รอบตัวของเขายังเต็มไปด้วยเรื่องราวตึงเครียดมากมาย ทั้งการต้องผันตัวมาเป็นพ่อของลูกสาวที่มีปัญหาทางการได้ยิน, การที่เขาต้องเปิดใจพูดคุยกับภรรยา บิยันก้า (เทสซา ทอมป์สัน) ให้มากขึ้น เนื่องจากไม่ได้มีมวยเป็นที่ระบายอารมณ์อีกต่อไป และความกังวลเรื่องอาการป่วยของ แมรี่ แอนน์ ครี้ด (ฟิลิเซีย ราเชด) ผู้เป็นแม่ ทำให้อารมณ์โดยร่วมของภาพยนตร์เรื่องนี้ มีความเป็นภาพยนตร์ดราม่ามากกว่าเป็นภาพยนตร์กีฬาเสียอีก

แต่ด้วยการที่ตัวภาพยนตร์มีประเด็นมากมายให้นำเสนอในกรอบเวลาที่ไม่ถึงสองชั่วโมงนี้ ทำให้เกือบทุกประเด็นที่กล่าวมาข้างต้นดูจะล่องล่อยอยู่พอสมควร คล้ายกับว่ามันถูกใส่เข้ามาเพื่อให้ภาพยนตร์มีองค์ประกอบครบถ้วนตามสูตรภาพยนตร์ทั่วไปของฮอลลีวูดเท่านั้น แต่กลับไม่ได้ผลักดันมิติของตัวละครหลักอย่างที่ควรจะเป็นเลย ยกตัวอย่างเช่น ฉากการเสียชีวิตของ แมรี่ แอนน์ ในช่วงกลางเรื่อง ก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนผู้ชมไม่ทันได้ซึมซับอารมณ์ ถึงแม้ฉากดังกล่าวนั้นจะได้เปลี่ยนแปลงตัว อโดนิส ไปอย่างสิ้นเชิง แต่ผู้ชมเองก็ยากที่จะเชื่อได้ว่าเพียงเพราะแค่เหตุการณ์ในครั้งนี้ จะส่งผลกระทบกับเขามากมายได้ถึงขนาดนี้

รวมไปถึงเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับการชกมวยก็ดูจะอ่อนลงไปจากภาคก่อน ๆ อย่างเห็นได้ชัด ทั้งด้านของความเข้มข้นในการฝึกซ้อม, เทคนิคหรือชั้นเชิงต่าง ๆ ในการชกเมื่ออยู่ในฉากแอคชั่นบนเวที ส่วนหนึ่งก็อาจจะเป็นเพราะการหายไปของผู้ฝึกสอนคนเก่าอย่าง สตอลโลน ซึ่งถูกทดแทนด้วย ลิตเติ้ลดู้ก (วูด แฮร์ริส) ที่ความสามารถในการถ่ายทอดอารมณ์ของเขายังไม่สามารถเทียบชั้น สตอลโลน ได้ ทำให้การแสดงอารมณ์ข้างเวทีในระหว่างการชกก็ตกลงไปด้วย รวมไปถึงรายละเอียดระหว่างการชก อย่างเช่นผู้บรรยาย, ทีมงานของแต่ละฝั่ง หรือกองเชียร์ข้างเวที ก็ขาดรายละเอียดจบแทบจะเรียกได้ว่าแห้งแล้งไปเลย

แต่ข้อด้อยทั้งหมดนี้ก็ถือเป็นการแลกเปลี่ยนที่เท่าเทียม ถ้าหากคิดว่ามันทำให้ผู้ชมได้มีโอากาสได้เห็นฉากแอคชั่นบนสังเวียนผ้าใบที่ทั้ง ดุดัน, เดือดดาล และเต็มไปด้วยความมันเกิดคาด ฉากแอคชั่นเหล่านี้ถ่ายทอดเสียงของกำปั้นที่กระแทกเข้ากับกล้ามเนื้อที่เต็มไปด้วยเม็ดเหงื่อ และเสียงของลมหายใจหอบจากปอดได้อย่างทรงพลัง ภาพของเม็ดเลือดจากรอยแตกบนจมูกที่สาดกระเซ็นลงไปบนผืนผ้าใบที่คมชัด ทำให้ผู้ชมเหมือนกับได้ไปยืนอยู่บนเวทีร่วมกันกับคู่ชกทั้งสอง ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้จากมุมกล้องที่โฉบเฉี่ยว การเกรดสีและการผสมเสียงที่ยอดเยี่ยม

และนักแสดงเกือบทุกคนในเรื่องก็ทำหน้าที่ของตัวเองในตามมาตรฐาน แต่ที่โดดเด่นเป็นพิเศษก็คงจะเป็น โจนาธาน เมเจอร์ส ในบทของ เดม หรือ เดเมี่ยน ที่เขาสามารถถ่ายทอดความโกรธแค้นอย่างเช่นสัตว์ป่าของ เดม ได้เมื่ออยู่บนเวที หรือแม้แต่ใบหน้าที่เศร้าจนแทบจะเหงาหงอย เมื่อ เดม ต้องพบกับความผิดหวัง ด้วยความสามารถในการแสดงในระดับนี้ เชื่อได้เลยว่า เมเจอร์ส จะกลายมาเป็นดาวดวงใหม่ในวงการภาพยนตร์ฮอลลีวูดในเวลาอีกไม่นานนี้อย่างแน่นอน

โดยสรุปแล้ว ภาพยนตร์อันเป็นผลงานกำกับครั้งแรกของ ไมเคิล บี. จอร์แดน เรื่องนี้ ยังคงเต็มไปด้วยข้อบกพร่องที่เห็นได้อย่างชัดเจน แต่หากคิดว่ามันเป็นผลงานเรื่องแรกของเขาแล้ว ก็ถือว่าทำออกมาได้ไม่แย่นัก และยิ่งต้องชมเชยที่เขาทำฉากแอคชั่นออกมาได้ยอดเยี่ยมและแปลกใหม่เกินความคาดหมาย ด้วยแรงบันดาลใจอย่างเต็มเปี่ยมจากแอนิเมชั่นญี่ปุ่นที่ไม่สูญเปล่า

Comments

comments